ย้อนอดีต! ปฏิบัติการโปเชนตง เมื่อกองทัพไทย เปิดปฏิบัติการช่วยคนไทยจากกัมพูชา

29 มกราคม 2546 เกิดเหตุจลาจลในกรุง พนมเปญ ของกัมพูชา จากบทความในหนังสือพิมพ์รัศมี อังกอร์ ( Rasmei Angkor) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2546 กล่าวว่าดาราไทยชื่อดังในยุคนั้นที่ทั้งคนไทยและกัมพูชาต่างชื่นชอบคือคุณสุวนันท์ คงยิ่ง กล่าวว่า นครวัด เป็นของไทยซึ่งกัมพูชาขโมยไปและเธอจะไม่ปรากฎตัวในกัมพูชาจนกว่าไทยจะได้นครวัดกลับคืน ข้อความนี้ถูกย้ำต่อโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นของกัมพูชา ว่าดาราไทยคนนี้ไม่ได้มีค่าแม้แต่ต้นหญ้าที่ขึ้นหน้าครวัด และเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาอย่าลืมรากเหง้าของตัวเอง โดยบอกว่าตอนนี้ชาวบ้านไม่ยอมติดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์กัมพูชาหรือแม้แต่รูปภาพพ่อกับแม่ตัวเอง แต่กลัวติดรูปของคุณสุวนันท์ และได้สั่งการให้สถานีโทรทัศน์ของกัมพูชางดเผยแพร่ละครไทยทั้งหมด แม้คุณสุวนันท์จะออกมาแถลงปฏิเสธว่าไม่เคยพูดแบบนั้นก็ตาม แต่กระแสข่าวดังกล่าว

ทั้งหมดนี้ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวกัมพูชาเป็นอย่างมาก จนนำมาสู่การสร้างกระแสชาตินิยมและการรวมตัวของชาวกัมพูชาที่ไม่พอไทยประเทศไทยหน้าสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาในช่วงเช้าของวันนั้น โดยในเบื้องต้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมไม่กี่ร้อยคน และจำนวนเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งต่อมา เหตุการณ์จะกลายเป็นการ เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา

คลิปข่าวจากสำนักข่าว AP

เอกอัครราชทูตไทยในขณะนั้นคือ ฯพณฯ ชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ เริ่มเป็นห่วงสถานการณ์ เพราะเริ่มเห็นคนจุดไฟเผาธงชาติไทย และเริ่มมีการทำลายป้ายสถานทูตไทย รวมถึงเห็นผู้ชุมนุมบางคนพกปืน AK-47 มาชุมนุมด้วย จึงโทรศัพท์ไปขอให้พลเอก เตียร์ บัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาซึ่งพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วให้กองทัพกัมพูชาช่วยส่งกำลังเสริมมาดูแลสถานการณ์หน่อย แต่พลเอก เตียร์ บันกล่าวว่าตำรวจน่าจะดูแลสถานการณ์ได้ นอกจากนั้นท่านทูตยังพยายามโทรหาทุกคนที่นึกชื่อออกในรัฐบาลกัมพูชา แต่ความช่วยเหลือก็มาไม่ทันเวลา

เมื่อการชุมนุมเริ่มรุนแรงขึ้น คนเข้ามาร่วมจำนวนมากขึ้น ม็อบเริ่มมีลักษณะ “เอาไม่อยู่” คือเริ่มกลุ่มผู้ชุมชุมปีนรั้วเข้ามายัง สถานทูตไทย ฯพณฯ ชัชเวทย์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สถานทูตให้รีบอพยพออกจากสถานทูต โดยตัวท่านทูตและเจ้าหน้าที่ปีนรั้วด้านหลังออกไปและกระโดดลงเรือที่แม่น้ำบาสักได้หวุดหวิด เจ้าหน้าที่บางส่วนปีนรั้วข้ามไปยังสถานทูตญี่ปุ่นที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งทางทูตญี่ปุ่นได้ให้การช่วยเหลือ

โชคดีที่การอพยพทันเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ แต่ไม่สามารถรักษาสถานทูตไว้ได้ ผู้ชุมนุมชาวกัมพูชาได้ทำการเผาและปล้นสดมอาคารสถานทูตอย่างโกรธแค้นจนกลายเป็นจลาจลขนาดใหญ่ ซึ่งแม้แต่หนังสือพิมพ์พนมเปญ โพส ก็รายงานว่าตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของกัมพูชายืนดูอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร เพราะบอกว่าไม่รู้จะทำอะไรได้

การปล้นสะดมและเผาสถานทูตกินเวลากว่าสองชั่วโมง มีการทุบทำลายหน้าต่าง รถยนต์ เครื่องใช้สำนักงาน และทุก ๆ อย่างเท่าที่พบ รวมถึงการเผาธงชาติไทยและพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีกเพราะมีข่าวลือว่าสถานทูตกัมพูชาในไทยก็ถูกโจมตีและมีชาวกัมพูชากว่า 20 คนถูกสังหารในกรุงเทพอีกด้วย ซึ่งยิ่งสร้างความโกรธแค้นและสร้างกระแสความต้องการล้างแค้นให้กับชาวกัมพูชาอย่างมาก

ตำรวจต้องใช้เวลาตลอดทั้งคืนในการเคลียร์สถานที่และผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากสถานทูตไทย ซึ่งนอกจากนั้นก็มีรายงานว่าธุรกิจของไทยหลายส่วนถูกเผาทำลายเช่นกันทั้งโรงแรม สำนักงานสายการบิน และห้างร้านต่าง ๆ ที่เป็นของคนไทยหรือต้องสงสัยว่าเป็นของคนไทยถูกทำลายแทบทั้งหมด

คลิปข่าวจากสำนักข่าว AP

รัฐบาลไทยในขณะนั้น นายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินจนได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการจลาจลในครั้งนั้น โดยได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย และส่งตัวทูตกลับประเทศ พร้อมลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเหลือระดับอุปทูต ยกเลิกโครงการช่วยเหลือทั้งหมดของไทยในกัมพูชา และปิดชายแดนไทยกัมพูชาตลอดแนว ซึ่งคำแถลงได้รับการประกาศสนับสนุนจากผู้นำฝ่ายค้านในสภา ประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สื่อสารไปยังคนไทยที่อยู่ในกัมพูชา โดยเฉพาะในพนมเปญทั้งหมดเพื่อนัดแนะจุดนัดพบเพื่ออพยพกลับประเทศไทย

ในเวลาเดียวกัน พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำ พลเอกสัมพันธ์ บุญญานันต์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกทวีศักดิ์ โสมาภา ผู้บัญชาการทหารเรือ และพลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ถูกเรียกตัวเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อย่างเร่งด่วนเพื่อร่างแผนการอพยพคนไทยกลับมายังประเทศไทย และวางแผน “เผื่อ” สำหรับสถานการณ์ที่อาจไม่คาดคิด ซึ่ง กองบัญชาการทหารสูงสุด (หรือ กองบัญชาการกองทัพ ไทยในปัจจุบัน) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อควบคุมและอำนวยการเหตุการณ์ โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์


และนั่นนำมาซึ่งการเปิด ปฏิบัติการโปเซนตง1

โปเซนตง คือชื่อสนามบินเก่าของกัมพูชาซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ และเป็นจุดนัดหมายสำหรับคนไทยให้มารวมตัวกันเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ โดยหลังจากเหตุการณ์รุนแรงจนกลายมาเป็นการเผาสถานทูต ทำให้ท่าที่ของรัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนไปในทันที พลเอก เตียร์ บัน ติดต่อกับทางการไทย และยอมให้ใช้สนามบินโปเซงตงเป็นจุดรับกลับ และส่งกำลังทหารดูแลโดยรอบสนามบิน พร้อมอนุญาตให้เครื่องบินของไทยบินเข้าน่านฟ้ากัมพูชา

ทหารของกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์จำนวน 30 นายพร้อมรถฮัมวี่ 4 คัน และมอเตอร์ไซต์ทางยุทธวิธีของ กองทัพบก และ รวมถึงหน่วยคอมมานโด ของกรมปฏิบัติการพิเศษ กองทัพอากาศ จำนวน 80 คน พร้อมมอเตอร์ไซต์ทางยุทธวิธีจำนวน 2 คัน ก็ถูกเรียกตัวมาเตรียมพร้อม ณ ที่ตั้งตั้งแต่ค่ำวันที่ 29 มกราคมก็ได้รับคำสั่งยุทธการให้เตรียมพร้อมเพื่อเดินทางเข้าสู่กรุงพนมเปญทางอากาศ
กองทัพเรือ ออกคำสั่งยุทธการให้เรือหลวงจักรีนฤเบศรและอากาศยานทั้งเครื่องบินขับไล่ AV-8S เฮลิคอปเตอร์ Bell 412 เฮลิคอปเตอร์ S-76B และเฮลิคอปเตอร์ S-70B พร้อมเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงสู้ไพรี เรือหลวงศรีราชา และเรือ ต.82 ประกอบกำลังเป็นหมู่เรือเฉพาะกิจออกเดินทางจากสัตหีบมุ่งหน้าไปยังน่านน้ำนอกชายฝั่งประเทศกัมพูชา นัยหนึ่งเพื่อกดดันกัมพูชาและเป็นการเตรียมการไว้สำหรับแผนสอง ในกรณีที่เครื่องบินไม่สามารถลงจอด ณ สนามบินโปเซนตงได้

ในส่วนของ กองทัพอากาศ ได้สั่งการให้ F-16ADF และ F-16A/B จากฝูงบิน 102 และ 103 เตรียมพร้อม ณ กองบิน 1 โคราชเพื่อให้สามารถขึ้นบินได้ภายใน 5 นาทีหลังได้รับคำสั่ง โดยกำลังทั้งหมดจะทำหน้าที่คุ้มกันหมู่บินเฉพาะกิจที่ประกอบไปด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130H จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินลำเลียง G-222 จำนวน 1 ลำ โดยมีพลอากาศเอกระเด่น พึ่งพักตร์ ผู้บัญชาการยุทธทางอากาศ (หน่วยในขณะนั้น ปัจจุบันไม่มีแล้ว) เดินทางไปพร้อมกับ G-222 ทำหน้าที่เป็นเครื่องบินบัญชาการซึ่งจะไม่ลงจอด

ในคืนนั้น การเตรียมกำลังภายในกองบิน 6 เป็นไปตลอดทั้งคืน ทั้งการวางแผนเส้นทางการบินเข้าและออกจากกรุงพนมเปญ การเตรียมยุทโธปกรณ์และเสบียงสำหรับหน่วยรบพิเศษทั้งหมดที่จะเดินทางไปด้วยกับหมู่บิน รวมถึงการวางแผนในกรณีที่ข่าวลือที่ว่ามีชาวกัมพูชาเตรียมชุมนุมเผาสนามบินโปเชนตงเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ และหน่วยรบพิเศษบางส่วนอาจต้องกระโดดร่มลงมายังสนามบินเพื่อคุ้มกันคนไทยที่มารวมตัวกันอยู่แล้วราว 700 คน

ซึ่งถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จะต้องปรับไปใช้ ปฏิบัติการโปเชนตง2 ในการให้ F-16 ของกองบิน 1 บินเข้าสู่น่านฟ้ากัมพูชาเพื่อคุ้มกันหมู่บินให้สามารถลงจอดได้ รวมถึงอาจต้องทำการใช้อาวุธเพื่อขัดขวางทางอากาศไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามายังพื้นที่ที่คนไทยรวมตัวอยู่ และอาจต้องคุ้มกันหมู่บินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือที่จะต้องบินขึ้นจากเรือหลวงจักรีนฤเบศรไปรับคนไทยกลับมายังหมู่เรือเฉพาะกิจที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งกัมพูชา


05.15 น. ของวันที่ 30 มกราคม 2546 หลังจากได้รับคำสั่งเริ่มปฏิบัติการ เครื่องบินลำเลียงแบบ C-130H ทั้ง 5 ลำบินขึ้นจากกองบิน 6 ดอนเมืองพร้อมกับ G-222 อีก 1 ลำ พร้อมหน่วยรบพิเศษมุ่งหน้าสู่สนามบินโปเชนตงของกัมพูชาเพื่อรับคนไทยกว่า 700 คนกลับบ้าน ปฏิบัติการโปเซนตง 1 กำหนดให้หมู่เรือเฉพาะกิจของกองทัพเรือเตรียมพร้อม นอกชายฝั่งของกัมพูชาเพื่อเตรียมพร้อมเช่นเดียวกับ F-16ADF และ F-16A/B ที่กองบิน 1 ให้ติดอาวุธเตรียมพร้อมเอาไว้จนกว่าหมู่บินของกองทัพอากาศจะสามารถนำคนไทยกลับมาได้อย่างปลอดภัย และให้กำลังทั้งหมดคุ้มกันหมู่บินเฉพาะกิจทั้ง 6 ลำในฐานะ Hihg-value Asset ที่เดินทางไปยังกัมพูชา

หลังจากเครื่องบินทั้ง 6 ลำบินขึ้นเหนือน่านฟ้าไทย และจัดตำแหน่งหมู่บินพร้อมแล้ว ทั้งหมดก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานโปเชงตงในกัมพูชา C-130 ลำแรกลงจอดที่สนามบินโปเชนตงราว 8 โมงกว่า ทหารจากกรมทหารราบที่ 31 ซึ่งเป็นหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วของกองทัพบก และหน่วยคอมมานโดของกองทัพอากาศที่ถูกฝึกมารับมือกับการก่อการร้ายในท่าอากาศยานและเครื่องบิน ก็กระจายกำลังจัดตั้งแนวป้องกันรอบ ๆ อากาศยานทั้งหมด และเริ่มดำเนินการพาคนไทยขึ้นเครื่อง C-130 ทั้ง 5 ลำที่ลงจอดโดยไม่มีการดับเครื่อง ลำไหนเต็มก็ออกเดินทางก่อน ซึ่งสามารถนำคนไทยขึ้นเครื่องได้ทั้งหมด 511 คน

เครื่องบินทั้ง 5 ลำบินขึ้นจากสนามบินโปเชนตงอย่างรวดเร็วและกลับมาถึงกองบิน 6 ในเวลา 07.50 และทะยอยกลับมาจนครบ 5 ลำในเวลา 09.30 น. ตามมาด้วยเครื่องบิน G-222 ที่ลงจอดในเวลา 09.40 น. โดยทั้งหมดทำการถ่ายโอนคนไทย เติมน้ำมัน ตรวสอบสภาพเครื่อง และขึ้นบินอีกครั้งเพื่อกลับไปรับคนไทยที่เหลืออีก 192 คน ซึ่งรวมถึงเอกอัครราชทูตไทย ผู้ช่วยทูต และเจ้าหน้าที่สถานทูตที่อาสาอยู่รอดูแลทุกคนจนมั่นใจว่าไม่มีใครตกค้าง และถอนกำลังคุ้มกันถึงยังประเทศไทยทั้งหมดในช่วงเย็นของวันนั้น


แม้จะน่าเสียดายและเสียใจที่ในเหตุการณ์นี้ เฮลิคอปเตอร์ S-76B ของกองทัพเรือประสบอุบัติเหตุตกในจังหวัดจันทบุรีระหว่างสนับสนุนหมู่เรือเฉพาะกิจ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 นายคือเรือโทธรรมเนียม โกษาจันทร์ และมีผู้บาดเจ็บอีก 3 คน แต่โดยรวมแล้ว ปฏิบัติการในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถช่วยชีวิตคนไทยกลับมาได้ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเหนือน่านฟ้า กัมพูชา

หลังจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประกาศจ่ายเงินชดเชยความเสียหายต่อสถานทูตไทยจำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะชดเชยความเสียหายให้กับธุรกิจของไทย และมีการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ก่อจลาจลราว 150 คน รวมถึงบรรณาธิการวิทยุข่าวและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รัศมี อังกอร์ก็ถูกจับกุมเช่นกัน แม้ต่อมาจะถูกให้ประกันตัวและไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด ๆ ก็ตาม ผู้ก่อจลาจลหลายคนถูกสั่งจำคุกราว 6 เดือน และต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะกลับมาสู่ระดับปกติ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.