ปัจจุบันกองทัพอากาศมีอากาศยานประจำการในฝูงบิน 702 กองบิน 7 จำนวน 7 ลำแล้ว โดยเป็นอากาศยานแบบ Saab340 เหมือนกัน แต่มีหน้าที่และอุปกรณ์ต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น
Saab 340 AEW ซึ่งติดระบบเรดาร์แบบ Erieye ซึ่งเป็นเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบแรกของไทย โดย Saab 340 ทั้งสองลำ (หมายเลข 70201 และ 70203) เป็นอากาศยานมือสองรหัส FSR-890 จากกองทัพอากาศสวีเดนซึ่งจัดหามาพร้อมกับการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen จำนวน 12 ลำเมื่อราว 10 ปีก่อน โดยทำให้ฝูง 702 นี้เป็นเพียงหนึ่งในสองฝูงบินในอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการใช้อากาศยานแจ้งเตือนล่วงหน้า Airborne Early Warning) หรือควบคุมและแจ้งเตือน โดยอีกฝูงหนึ่งคือฝูง 111 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ซึ่งใช้งาน G550 CAEW หรือ Conformal Airborne Early Warning จำนวน 4 ลำนั่นเอง
อนึ่ง Saab 340 AEW นั้นเป็นเพียงเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าที่ต้องปฏิบัติงานภายในเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพอากาศเท่านั้น โดยมีฐานะเป็นเสมือนเรดาร์ลอยฟ้าเพื่อเสริมให้กับระบบเรดาร์ภาคพื้นดิน และเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพอากาศที่สถานีภาคพื้นดินเพื่อใช้ในการควบคุมและสั่งการ จึงทำให้ยังไม่มีขีดความสามารถในการควบคุมและสั่งการด้วยตัวของมันเอง หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ยังไม่มีตัว C เติมหลังคำว่า AEW ให้เป็น AEW&C
ในปัจจุบันนี้ กองทัพอากาศสวีเดนมี Saab 340 AEW&C รหัส ASC-890 ใช้งานจำนวนสองลำ ซึ่งเป็นการปรับปรุง Saab 340 ให้มีขีดความสามารถในการควบคุมและสั่งการได้ รวมถึงติดตั้ง Link-16 เพื่อให้ใช้งานกับประเทศใน NATO ได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีปากีสถานที่ใช้งาน Saab 2000 AEW&C จำนวน 7 ลำ รวมถึงมี Saab 340 AEW ที่เคยให้กรีซและ UAE ยืมไปใช้งาน และปัจจุบันได้ส่งคืนให้กับสวีเดนแล้ว โดยกองทัพอากาศกรีซได้จัดหาอากาศยานแบบ EMB-145 ที่ติดตั้งเรดาร์ Erieye จำนวน 4 ลำ เช่นเดียวกับบราซิลและเม็กซิโกที่มีใช้งาน 5 ลำ และ 1 ลำตามลำดับ ส่วน UAE นั้นได้ลงนามจัดหา Globaleye ที่ติดตั้งเรดาร์ Erieye ER ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าบนอากาศยานแบบ Bombardier Global 6000 จำนวน 5 ลำ ซึ่งกำลังทะยอยรับมอบเข้าประจำการ โดยกองทัพอากาศสวีเดนก็ได้แสดงความสนใจที่จะจัดหา Globaleye ทดแทน Saab 340 AEW&C ในอนาคตเช่นกัน

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทยมีโครงการปรับปรุง Saab 340 AEW ให้เป็นมาตรฐาน AEW&C ในปีงบประมาณ 2564 นี้ โดยใช้งบประมาณราว 4,500 ล้านบาท โดยกำหนดความต้องการคือ
- ทำการปรับปรุงขีดความสามารถ บ.ค.1 (Saab 340 AEW) ให้เป็น บ.ค.1 (SAAB 340 AEW&C) พร้อมสนับสนุนการฝึกอบรมนักบิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง ภายในประเทศหรือต่างประเทศ
- ทำให้อากาศยานมีขีดความสามารถวิเคราะห์ แจ้งเตือน และเฝ้าตรวจ ทั้งทางอากาศและทางทะเลในระดับ Near Real Time รวมทั้งการส่งข้อมูลทางยุทธวิธีผ่านเครือข่าย (Network) ไปหน่วยบัญชาการและควบคุม และหน่วยปฏิบัติ ซึ่งขีดความสามารถในการส่งข้อมูลทางยุทธวิธีให้กับหน่วยปฏิบัติ หรือพูดง่าย ๆ คือการส่งข้อมูลให้กับเครื่องบินขับไล่โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินนั่นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AEW แตกต่างจาก AEW&C
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบ Airborne Early Warning Radar และระบบ Airborne C2 ตลอดจนการฝึกศึกษาเพื่อให้สามารถบำรุงรักษาอากาศยานได้บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง
- ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบินของกองทัพอากาศ ซึ่งน่าจะหมายถึงการที่กองทัพอากาศต้องการติดตั้ง Link-T บน Saab 340 AEW&C ที่กองทัพอากาศพัฒนาขึ้นบนเครื่องได้ หรือแม้แต่ให้สิทธิ์กองทัพอากาศติดตั้ง Link-16 ได้ในอนาคตถ้าต้องการ
นอกจาก Saab 340 AEW แล้ว กองทัพอากาศยังมี Saab 340 อีก 5 ลำ ซึ่งเป็นรุ่นลำเลียงทั่วไปสำหรับใช้ในการฝึกและรับส่งกำลังพลหรือ บ.ล.17 (หมายเลข 70204, 70205, และ 70206) และเครื่องบินข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT หรือ Signal Intelligent) หรือ บ.ตล.17 (หมายเลข 70202 และ 70207) ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับข่าวกรองทางสัญญาณซึ่งมีขีดความสามารถทั้งงานข่าวกรองการสื่อสาร (COMINT) คิอการดักฟังสัญญาณจากข่ายการสื่อสารของข้าศึก ข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ (ELINT) ซึ่งเป็นข่าวกรองที่ได้จากการดักรับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสารของข้าศึก เช่น สัญญาณเรดาร์ ระบบนำวิถีของอาวุธ เพื่อนำข้อมูลไปใช้กับอุปกรณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์เช่น RWR หรืออุปกรณ์ Jammer ต่าง ๆ รวมถึงนำไปเป็นข้อมูลสำหรับออกแบบเทคนิคการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ (EA) อีกด้วย

โดยทั้งสองลำนี้เป็นการออกแบบและติดตั้งระบบบน Saab 340 เช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับระบบและขีดความสามารถของระบบที่ติดตั้งอยู่บน Saab 340 SIGINT ทั้งสองลำนี้ แต่คาดว่าหนึ่งในนั้นน่าจะเป็นการติดตั้งระบบข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ ELL-8385 ของ IAI ประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นระบบมาตรการสนับสนุนทางอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมการณ์ (Integrated Electronic Support Measures) และข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบมาสำหรับสภาวะที่มีการใช้งานสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์สูง และออกแบบมาใช้สำหรับภารกิจข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะไกล โดยระบบสามารถค้นหา สกัดกั้น วิเคราะห์ ระบุตำแหน่ง จัดประเภท และติดตามระบบเรดาร์ทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ และภาคทะเล เพื่อสร้างรายงานการข่าวและให้ข้อมูลด้านการข่าวทั้งทางยุทธวิธีและทางยุทธศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบการป้องกันประเทศได้ ในส่วนของข่าวกรองสัญญาณนั้น เพื่อพิจารณาเสาอากาศที่ติดตั้งบนตัวอากาศยานแล้ว คาดว่าจะติดตั้งระบบ ข่าวกรองสัญญาณของ Rohde & Schwarz ซึ่งใช้ในการค้นหาทิศทาง (Direction Finding) ของสัญญาณ ทำการติดตามและระบุตำแหน่ง รวมถึงดักฟังเครือข่ายสื่อสารของข้าศึกได้
ทั้งนี้อากาศยานทั้งสองลำนี้นำมาทดแทนอากาศยานแบบ IAI Arava จำนวน 3 ลำที่เคยประจำการในฝูงบิน 402 กองบิน 4 ตาคลี และทำให้ในปัจจุบัน งานด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกโอนมายังฝูง 702 กองบิน 7 และปรับภารกิจของฝูง 402 ไปเป็นฝูงบินลาดตระเวนถ่ายภาพและตรวจการณ์ทางภาพแทน
อนึ่ง ในปี 2570 กองทัพอากาศมีโครงการจัดหา เครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง ทดแทน Saab 340 จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งตามความต้องการแล้วคาดว่าจะเป็นการจัดหามาทดแทน Saab 340 รุ่นโดยสารทั้งสามเครื่องที่มีประจำการ ซึ่งตรงนี้ TAF ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด Saab 340 รุ่นลำเลียงจึงหมดอายุการใช้งานก่อน เนื่องจากจริง ๆ แล้ว Saab 340 เป็นเครื่องบินโดยสารที่ออกแบบมาให้มีชั่วโมงบินจำนวนมาก โดยสามารถปรับปรุงเพื่อให้ขยายชั่วโมงบินไปได้ถึง 8 หมื่นชั่วโมงหรือ 9 หมื่นรอบการบิน (รอบละ 0.85 ชั่วโมงบิน) ซึ่งเป็นปกติของเครื่องบินโดยสารที่จะต้องมีชั่วโมงบินจำนวนมากจากการที่ต้องใช้งานทุกวันวันละหลายชั่วโมง ทำให้จริง ๆ แล้ว Saab 340 ก็น่าจะใช้งานไปได้อีกนานหลายสิบปี ซึ่งเหตุผลของการจัดหาเครื่องบินทดแทนนี้ยังไม่แน่ชัด เพราะสมุดปกขาวของกองทัพอากาศเขียนไว้เพียงว่าเพื่อดขีดความสามารถในการลำเลียงทางอากาศทั้งทางทหารและพลเรือนเท่านั้น ตรงนี้ถ้าท่านใดมีข้อมูลก็สามารถนำมาแบ่งปันกันได้ครับ