กองทัพอากาศไทย มีเครื่องบินรบกี่ลำ (ในปี 64-68)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในการสนทนาใน Clubhouse ของ TAF ที่ @thaiarmedforce นั้น มีสมาชิกในห้องถามว่า วันนี้ #กองทัพอากาศไทย เรามีเครื่องบินรบกี่ลำ เคยได้ยินมาว่ามีไม่กี่ลำ ดังนั้นวันนี้เราจะลองมาลองทบทวนกันดูว่า ณ เดือนเมษายน 2564 นี้ กองทัพอากาศมีเครื่องบินรบที่มีขีดความสามารถในการทำการรบ ไม่นับเครื่องบินลำเลียง เครื่องบิน VIP หรือเฮลิคอปเตอร์อยู่กี่ลำ ในฝูงใดบ้าง และมองไปในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าคือปี 2568 #กองทัพอากาศ จะมี #เครื่องบินรบ กี่ลำ จะเพิ่มหรือลดลง ติดตามกันได้ครับ

ฝูง 102 : F-16 ADF = 13 ลำ (ตก 2 ปลด 1)

ฝูงนี้เเป็นการจัดหาเครื่องบินมือสองจากสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 นั้นกองทัพอากาศไทยได้ลงนามในสัญญาจัดหา F/A-18 จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 8 ลำ แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ จึงเจรจาให้สหรัฐอเมริกาช่วยซื้อสัญญา F/A-18 ทั้ง 8 ลำนั้นไป และนำเงินที่จ่ายไปบางส่วนไปจัดหา F-16ADF ที่เก็บสำรองไว้ในทะเลทรายจำนวน 16 ลำ และอะไหล่อีก 2 ลำ ซึ่ง F-16ADF เป็นเครื่องบินขับไล่ฝูงแรกที่สามารถใช้งานจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ AIM-120 AMRAAM ได้ เคยประสบอุบัติเหตุตกไป 2 ลำ และปลดประจำการไป 1 ลำเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาเนื่องจากหมดอายุการใช้งาน คงเหลืออีก 13 ลำ ซึ่งกองทัพอากาศวางแผนที่จะใช้งานต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ทดแทน

ฝูง 103 : F-16 OCU = 22 ลำ (ตก 1 ปลด 1 ย้าย 1)

F-16A/B ฝูงแรกของกองทัพอากาศไทย มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งรวมถึงเครื่องที่กองทัพอากาศสิงคโปร์มอบให้ 7 ลำเพื่อตอบแทนที่ให้กองทัพอากาศไทยให้ใช้พื้นที่ฝึกในประเทศไทย ที่ผ่านมาประสบอุบัติเหตุตกไป 1 ลำ ปลดประจำการอีก 1 ลำ ส่วนอีก 1 ลำนั้นถูกนำไปปรับปรุงรวมกับฝูง 403 นอกนั้นกองทัพอากาศไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงอะไรนอกจากปรับปรุงโครงสร้างเพื่อยืดอายุการใช้งาน และจะใช้งาน F-16A/B ฝูงนี้ไปจนหมดอายุการใช้งานในอีกราว 10 ปีนับจากนี้

ฝูง 211 : F-5TH = 4 ลำ F-5E/T = 20 ลำ

เป็น F-5 ที่ประจำการมานานกว่า 40 ปี โดยเป็นฝูงสุดท้ายที่เหลือจากการปลดประจำการ F-5 รุ่นอื่น ๆ และในการปรับปรุงครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายนี้ทำให้ F-5 เข้าสู่มาตรฐาน F-5TH ด้วยการเปลี่ยนระบบเรดาร์ ติดตั้งระบบ Avionic ใหม่ ๆ และใช้งานจรวดแบบใหม่เช่น จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้แบบ IRIS-T จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ I-Derby และ Datalink แบบ Link-T ซึ่งทำให้ F-5 ฝูงสุดท้ายในอาเซียนนี้มีขีดความสามารถเทียบเท่ากับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 และจะใช้งานต่อไปอีกราว 15 – 20 ปีหลังจากปรับปรุงเสร็จ

ฝูง 403 : F-16 eMLU = 18 ลำ (ตก 1 รับโอน 1)

ถือเป็น F-16 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดของประเทศหลังจากการปรับปรุงตามมาตรฐาน eMLU ด้วยการติดตั้งเรดาร์ AN/APG-66(V)9 ระบบ Datalink แบบ Link-16 และกระเปาะชี้เป้าแบบ Spiner ATP โดยเป็น F-16A/B ในฝูง 403 ที่เหลือจำนวน 17 ลำ จาก 18 ลำ เนื่องจากประสบอุบัติเหตุตกไป 1 ลำ และรวมกับเครื่องที่รับโอนมาจากฝูง 103 อีก 1 ลำ

ฝูง 701 : Gripen = 11 ลำ (ตก 1)

Gripen ฝูงเดียวในเอเชียนี้เข้าประจำการมาครบ 10 ปีในปีนี้ โดยประสบอุบัติเหตุตกไป 1 ลำ ที่เหลือ 11 ยังคงใช้งานเป็นเครื่องบินรบหลักของประเทศ ซึ่ง Gripen มีระบบ Datalink แบบ Link-T ที่กองทัพอากาศพัฒนาขึ้นเองใช้งานควบคู่กับเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบ Saab 340 AEW และมีระบบอาวุธสำคัญคือจรวดปราบเรือผิวน้ำแบบ RBS-15F จำนวน 12 นัด ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบเดียวของกองทัพอากาศที่มีขีดความสามารถในการโจมตีเรือผิวน้ำ

ฝูง 401 : T-50TH = 12 ลำ

T-50TH ถูกเลือกมาทดแทน L-39ZA/ART ในบทบาทของเครื่องบินฝึกนักบินที่จะทำการบินกับเครื่องบินขับไล่หรือ Lead-In Fighter Trainer (LIFT) โดยจัดหาแล้วจำนวน 12 ลำ และมีระบบเรดาร์ EL/M-2032 ซึ่งคาดว่าถ้า KAI ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินพัฒนาต้นแบบเครื่องให้ใช้งานจรวด AIM-120 AMRAAM และกระเปาะชี้เป้า Sniper ได้สำเร็จ กองทัพอากาศก็น่าจะดำเนินการปรับปรุงให้ T-50TH มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้ T-50TH สามารถรับบทบาทเป็นเครื่องบินขับไล่เบาได้ในระดับหนึ่ง

ฝูง 231 : Alpha Jet = 19 ลำ (ตก 1)

Alpha Jet เป็นเครื่องบินโจมตีมือสองจากประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดหามา 20 ลำ และประสบอุบัติเหตุตกไปตั้งแต่ช่วงส่งมอบ 1 ลำ ปัจจุบันกำลังเข้ารับการปรับปรุงยืดอายุการใช้งานและติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์แบบใหม่ซึ่งจะทำให้ Alpha Jet สามารถใช้งานระบบอาวุธที่ทันสมัยและ Datalink แบบ Link-T ได้อีกฝูงหนึ่ง

ฝูง 411 : L-39 = 0 ลำ (ปลดหมดฟลีท)

L-39ZA/ART เหลือประจำการ 5 ลำสุดท้ายในฐานะฝูงบินโจมตีฝูงเดียวของภาคเหนือ และได้ทำการปลดประจำการเครื่องทั้งหมดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

ดังนั้นในตอนนี้กองทัพอากาศมีอากาศยานที่ใช้ในการรบทั้งหมด = 119 ลำ


เมื่อมองไปยังอนาคต ตามแผนระยะใกล้ราว 4 ปีข้างหน้า กองทัพอากาศมีแผนงานที่จะปลดประจำการอากาศยานเพิ่มเติม และจัดหาอากาศยานใหม่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้หน้าตาของกองทัพอากาศในปี 2568 นั้นประกอบไปด้วย

ฝูง 102 : F-16 ADF = 0 ลำ (ปลด 14) + new MRCA = 6 ลำ

ซึ่งกองทัพอากาศอาจทำการปลดประจำการ F-16ADF ทั้งหมด หรืออาจคัดเลือกเครื่องบินบางส่วนที่ยังพอเหลือชั่วโมงบินและมีสภาพพอใช้งานได้ในบทบาทของเครื่องบินฝึกใช้อาวุธทางอากาศเพื่อรองรับการจัดตั้ง Fighter Weapon School ซึ่งต้องรอดูแผนงานที่ชัดเจนกันต่อไป แต่ในช่วงนั้น กองทัพอากาศจะเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่เพื่อทดแทน F-16ADF ซึ่งจะรับมอบภายในปี 2568-69 ทำให้จะมีเครื่องบินขับไล่แบบใหม่เข้าประจำการ ซึ่งอาจจะเป็นทั้ง F-16 Block 70 หรือ Gripen E/F ที่ต้องแข่งขันกันเสนอโครงการให้กองทัพอากาศไทย

ฝูง 103 : F-16 OCU = 17 ลำ (ตก 1 ปลด 6 ย้าย 1)

กองทัพอากาศจะปลดประจำการ F-16 ที่ได้รับมอบจากกองทัพอากาศสิงคโปร์ คงเหลือใช้งาน F-16A/B ที่มีอยู่เดิมไปจนหลังปี 2571 ที่กองทัพอากาศจะเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16 ฝูง 103 ในเฟสแรกจำนวน 6 ลำอีกครั้ง

ฝูง 211 : F-5TH = 14 ลำ (ปลด 10)

F-5TH จะทำการปรับปรุงทั้งหมดจำนวน 14 ลำ เครื่องที่เหลือจะไม่มีการปรับปรุงและปลดประจำการออกไป

ฝูง 403 : F-16 eMLU = 18 ลำ (ตก 1 รับโอน 1)

F-16 eMLU จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเครื่องภายใน 4 ปีนี้

ฝูง 701 : Gripen = 11 ลำ (ตก 1)

กองทัพอากาศมีแนวคิดที่จะจัดหา Gripen C อีก 1 ลำเพื่อทดแทน Gripen ที่ประสบอุบัติเหตุตก เพื่อทำให้จำนวนฝูงบิน Gripen กลับมาเป็น 12 ลำ ซึ่งถือเป็นจำนวนต่ำสุดที่จะปฏิบัติงานได้ โดยยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นการจัดหาแยก 1 ลำ หรือถ้า Saab เข้าแข่งขันในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16ADF ก็อาจมีการเสนอเครื่อง Gripen C เพิ่มอีก 1 ลำในราคาพิเศษในฐานะส่วนหนึ่งของข้อเสนอก็ได้ ยกเว้นถ้ากองทัพอากาศมีภาระงบประมาณจำนวนมากและงปประมาณที่ได้รับยังไม่ฟื้นตัวหลังจากถูกตัดออกไปจากภาวะโควิด-19 การจัดหาเครื่องบินทดแทน 1 ลำก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

ฝูง 401 : T-50TH = 14 ลำ

กองทัพอากาศกำลังดำเนินการจัดหา T-50TH เพิ่มเติมอีก 2 ลำในเฟสที่ 4 ซึ่งถือเป็นเฟสสุดท้ายของโครงการ T-50TH โดยเลื่อนมาจากปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และจะทำให้มีจำนวน T-50TH ทั้งหมด 14 ลำในที่สุด

ฝูง 231 : Alpha Jet-TH = 14 ลำ (ตก 1 ปลด 5)

กองทัพอากาศน่าจะเสร็จสิ้นการปรับปรุง Alpha Jet จำนวน 14 ลำ และจะปลดประจำการ Alpha Jet ลำที่มีสภาพแย่ออกไป 5 ลำเพื่อนำมาเป็นอะไหล่ให้กับ Alpha Jet ที่ยังประจำการอยู่ เนื่องจากในโลกนี้จะเหลือ Alpha Jet A จำนวนไม่มากนัก โดยนอกจาก 14 ลำของกองทัพอากาศไทยแล้ว ยังมีประจำการอีก 19 ลำในฝูงบินของบริษัท Top Aces ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างฝึกการรบทางอากาศ นอกนั้นจะเป็น Alpha Jet E ตามมาตรฐานของกองทัพอากาศฝรั่งเศสที่ยังมีประจำการอยู่ทั่วโลกมากกว่า 100 ลำ

ฝูง 411 : AT-6TH = 12 ลำ

หลังจากการปลดประจำการ L-39ZA/ART ออกไป ฝูงบิน 411 จะไม่มีอากาศยานประจำการราว 2 – 3 ปีจนเมื่อเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6TH ที่ทำการผลิตบางชิ้นส่วนและประกอบรวมขั้นสุดท้ายในประเทศไทยเริ่มเข้าประจำการ ฝูง 411 จึงจะมีอากาศยานประจำการอีกครั้ง โดยกองทัพอากาศจะลงนามในสัญญาจัดหา AT-6TH จำนวน 8 ลำในปี 2564 นี้ และลงนามจัดหาอีก 4 ลำที่เหลือในปี 2565 เครื่องจะทำการผลิตหลังจากทำการผลิตเครื่องบินรุ่นฝึกแบบ T-6TH จำนวน 12 ลำที่ลงนามไปในปี 2563

ฝูง 302: RTAF U1M = 3 – 6 ลำ

ในปี 2564 นี้ กองทัพอากาศได้ว่าจ้างบริษัท R V Connex ดำเนินการพัฒนาอากาศยานไร้นักบินติดอาวุธหรือโดรนติดอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้แบบแผนของอากาศยานไร้นักบินแบบ RTAF U1 มาติดตั้งระเบิดแบบ Fury โดยมีสัญญาจัดหาจำนวน 3 ลำ ในเบื้องต้น ซึ่งตามแผนงานแล้วกองทัพอากาศจะเริ่มจัดหาฝูงบินอากาศยานไร้นักบินติดอาวุธอีกราว 12 ลำในปี 2566 – 68 และน่าจะได้รับมอบตั้งแต่ปี 2567 – 2569 จึงทำให้ในปี 2568 กองทัพอากาศน่าจะมี RTAF U1M ราว 3 – 6 ลำเข้าประจำการแล้ว และเมื่อ RTAF U1M เข้าประจำการทั้งหมด กองทัพอากาศจะเรื่มว่าจ้างทำการผลิตอากาศยานไร้นักบินติดอาวุธขนาดกลางซึ่งเป็นอากาศยานไร้นักบินติดอาวุธที่ใหญ่กว่า RTAF U-1M เข้าประจำการอีก 1 ฝูงหลังปี 2571 เป็นต้นไป

ดังนั้นในปี 2568 นั้น กองทัพอากาศจะมีอากาศยานทั้งหมดราว = 109-112 ลำ โดยจำนวนอาจลดลงถ้ามีอุบัติเหตุอากาศยานตกหรือต้องจำหน่าย ซึ่งในระยะยาวนั้น อากาศยานของกองทัพอากาศจะไม่เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เนื่องจากกองทัพอากาศลดจำนวนอากาศยานต่อฝูงลงจาก 16 ลำเหลือ 12 ลำแล้ว

ท่านที่สนใจสามารถร่วมสนทนาในประเด็นนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2940270132884324/

2 thoughts on “กองทัพอากาศไทย มีเครื่องบินรบกี่ลำ (ในปี 64-68)

  1. เรียนแอดมิน thaiarmedforce.com

    ผมติดตามอ่านบทความต่างๆในเว็บไซด์ของคุณมาโดยตลอด ถือได้ว่าthaiarmedforce.comเป็นเว็บไซด์ที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารด้านการทหารที่ดีเว็บไซด์หนึ่งที่ให้บริการด้านความรู้และข่าวสารด้านการทหารแก่ผู้สนใจทั่วไป

    ในฐานะที่ผมเป็นข้าราชการทหารสังกัดกองทัพอากาศ ผมพบว่าบทความในเว็บไซด์ของท่าน ชื่อบทความว่า “กองทัพอากาศไทย มีเครื่องบินรบกี่ลำ (ในปี 64-68)”เขียนโดยSkymanนั้น ได้นำเสนอข้อมูลด้านอากาศยานของกองทัพอากาศที่มีรายละเอียดในระดับชั้นความลับซึ่งไม่เหมาะสมที่จะนำข้อมูลดังกล่าวออกเผยแพร่แบบสาธารณะ(public)

    ผมขอความกรุณาทางแอดมินให้ถอดบทความดังกล่าวออกจากเว็บไซด์รวมทั้งสื่อทางสังคมอื่นๆที่ท่านได้เผยแพร่ออกไปก่อนหน้านี้หรือท่านแอดมินพิจารณาทบทวนเนื้อหาใหม่ตัดข้อมูลที่ไม่ควรเผยแพร่สู่สาธารณะออกไป

    ผมหวังท่านแอดมินเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าวและทำการแก้ไขบทความเพื่อกองทัพอากาศและประเทศชาติของเรานะครับ

    ท่านนาวาอากาศเอกTOM
    doo11karen@hotmail.com

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.