อัพเดต โครงการโดรน 4.1 พันล้าน กองทัพเรือ Wing Loong II vs. Hermes 900

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสมาผู้แทนราษฎรมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งส่วนหนึ่งของการแถลงข่าวนั้นมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบินมูลค่า 4,100 ล้านบาทของกองทัพเรือ ที่เสนอของบประมาณกับสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำการจัดหาในปี 2565 ซึ่งเรื่องนี้ TAF เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ในตอนนี้มีข้อมูลใหม่ที่ถือเป็นการอัพเดต ทั้งจากการแถลงข่าวของนายยุทธพงศ์ และกระแสข่าวจากในวงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทั้งในและต่างประเทศ จึงขอมาสรุปและวิเคราะห์ให้ฟังอีกครั้งหนึ่งครับ

โครงการนี้เป็นโครงการที่กองทัพเรือต้องการจัดหาอากาศยานไร้นักบินแบบเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกลหรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance) โดยเป็นการจัดหาจำนวน 3 ระบบ เพื่อประจำการในแต่ละทัพเรือภาค ทัพเรือภาคละ 1 ระบบ ในลักษณะการใช้งานคือการลาดตระเวนทางทะเลในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละทัพเรือภาค

ทั้งนี้ โครงการนี้ยังไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจไม่ได้รับงบประมาณในการจัดหา ซึ่งต้องรอว่ากรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตัดหรือปรับลดโครงการลงหรือไม่ แต่ในกรณีที่โครงการผ่านความเห็นชอบ จะสามารถดำเนินการจัดหาได้ในปีงบประมาณ 2565 คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยงบประมาณรวมทั้งโครงการคือ 4,100 ล้านบาท เป็นงบประมาณผูกพันหรือผ่อนจ่าย 4 ปี โดยมีงวดการจ่ายต่อปีคือ 820 ล้านบาท 1,200 ล้านบาท 1,200 ล้านบาท และ 880 ล้านบาทตามลำดับ

ในส่วนของแบบอากาศยานที่เลือกแบบนั้น กองทัพเรือใช้ใบเสนอราคาจากสองบริษัทเพื่อยื่นให้กรรมาธิการงบประมาณพิจารณาคือ บริษัท China National Aero-Technology Import & Export Corporation หรือ CATIC จากประเทศจีน ซึ่งมีข่าวว่าเสนอ UAV แบบ Wing Loong II จำนวน 3 ระบบ และบริษัท Elbit Systems จากประเทศอิสราเอล ซึ่งเสนอ UAV แบบ Hermes 900 จำนวน 2 ระบบ

แม้ว่าใบเสนอราคาที่ยื่นต่อกรรมาธิการนั้นจะเป็นใบเสนอราคาเพื่อประกอบการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณเท่านั้น ในการจัดหาจริงจะต้องมีการทำราคากลาง ซึ่งสามารถขอใบเสนอราคาใหม่จากบริษัทเดิมหรือบริษัทอื่นได้ ซึ่งจะชี้ชัดมากกว่าใบเสนอราคาในขั้นตอนนี้ แต่ที่กองทัพเรือเลือกขอใบเสนอราคาจากสองบริษัทนี้เพื่อประกอบการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ ก็ถือได้ว่าทั้งสองบริษัทนี้อยู่ในข่ายตัวเต็งของการจัดหาในครั้งนี้ เพราะหมายถึงกองทัพเรือเขียนคำของบประมาณและ TOR เบื้องต้นโดยอ้างอิงคุณสมบัติและราคาของอากาศยานไร้นักบินทั้งสองแบบนี้

ซึ่งข้อมูลนี้น่าแปลกใจอยู่ตรงที่กองทัพเรือไม่ได้เลือกใบเสนอราคาจากบริษัท China Aerospace Science and Technology Corporation หรือ CASC จากประเทศจีน ผู้ผลิตอากาศยานไร้นักบิน CH-4A เข้าไปพิจารณาด้วย ทั้งที่บริษัทได้ให้ข้อมูลกับ TAF ในงาน Defense and Security 2019 ว่าพร้อมเข้าแข่งขันในโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบินของกองทัพเรือไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการหลบกันเองของผู้ผลิตจากจีน ที่ต้องการเสนอราคาเพียงบริษัทเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดราคากันเอง หรือมีเหตุผลอื่นที่ CASC ไม่ได้เสนอราคา ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า ในการจัดทำราคากลางเมื่อโครงการผ่านแล้ว จะมีบริษัท CASC กลับเข้ามาเป็นตัวเลือกในการพิจารณาหรือไม่


แต่ในตอนนี้ เราลองพิจารณาคุณสมบัติของอากาศยานทั้งสองแบบก่อนนั่นก็คือ Wing Loong II และ Hermes 900

Wing Loong II เป็นรุ่นส่งออกที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก Wing Loong I โดยเข้าประจำการในกองทัพจีนภายใต้รหัส GJ-2 โดยทำได้ทั้งภารกิจลาดตระเวนและโจมตี มีผลงานในการรบที่ลิเบีย ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE จัดหา Wing Loong II เพื่อส่งมอบให้กับกองทัพลิเบียใช้งานในการรบในสงครามกลางเมืองลิเบีย โดย UAE ร่วมควบคุมการปฏิบัติการด้วย โดยจัดหาทั้งหมด 18 ลำ สูญเสีย 6 ลำ และล่าสุดจีนใช้ Wing Loong II ติดอุปกรณ์สื่อสารในการเป็นอากาศยานทวนสัญญาณใเหตุการณ์น้ำท่วมที่เหอหนาน นอกจากนั้นยังมีใช้งานในซาอุดิอารเบียที่ใช้ในการโจมตีกลุ่มกบฎฮูติในเยเมน รวมถึงในปากีสถาน อียิปต์ ไนจีเรีย โมร็อคโค และเซอร์เบีย

Wing Loong II กางปีก 20.5 เมตร ยาว 11 เมตร สูง 4.1 เมตร น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 9,259 ปอนด์ ความเร็วสูงสุด 200 น็อต บินได้นาน 32 ชั่วโมง ที่ความสูงปฏิบัติการ 32,500 ฟุต

นอกจากกล้องและเรดาร์ตรวจการณ์แล้ว ความพิเศษของ Wing Loong II คือสามารถติดตั้งระเบิดและจรวดได้หลากหลาย ทำให้สามารถใช้เป็นอากาศยานไร้นักบินติดอาวุธได้ แม้ว่ากองทัพเรือจะไม่ได้กำหนดให้อากาศยานไร้นักบินที่เข้าแข่งขันต้องติดอาวุธได้ก็ตาม

สำหรับคู่แข่งคือ Hermes 900 ของ Elbit ประเทศอิสราเอลนั้นเป็นอากาศยานไร้นักบินที่มีใช้งานในกองทัพอิสราเอลและเข้าร่วมในสงครามทุกครั้งที่อิสราเอลรับมือตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา โดยเริ่มที่ Operation Protective Edge ก่อนที่จะเข้าประจำการในกองทัพอิสราเอลอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นยังถูกใช้งานโดยอาร์เซอร์ไบจันในสงครามกับอาร์เมเนีย ซึ่งอาร์เมเนียกล่าวว่าสามารถยิง Hermes 900 ของอาร์เซอร์ไบจันตกได้ แต่อาร์เซอร์ไบจันปฏิเสธ Hermes 900 ยังมีใช้งานในแคนาดา ชิลี โคลัมเบีย ไอซ์แลนด์ เม็กซิโก สวิสเซอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์

Hermes 900 กางปีก 15 เมตร ยาว 8.3 เมตร น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 2,425 ปอนด์ บินที่ความเร็ว 120 น็อต บินได้นาน 36 ชั่วโมงที่ความสูง 30,000 ฟุต โดย Hermes 900 มีแต่รุ่นลาดตระเวน ไม่มีรุ่นติดตั้งอาวุธแต่อย่างใด


ทั้งนี้ จากข้อมูลที่กองทัพเรือใช้ใบเสนอราคาของ CATIC และ Elbit ในการอ้างอิงเพื่อของบประมาณนั้น ข้อมูลที่น่าสนใจคือในงบประมาณ 4,100 ล้านบาทนั้น ใบเสนอราคาของ CATIC เสนอมาจำนวน 3 ระบบ แต่ Elbit เสนอมาเพียง 2 ระบบ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงกองทัพเรือเขียนความต้องการและงบประมาณโดยใช้การอ้างอิงราคาของ Wing Loong II เป็นหลัก และมี Elbit เป็นคู่เทียบที่มีราคาแพงกว่า จึงสามารถเสนอได้เพียง 2 ระบบเนื่องจากกรอบงบประมาณถูกตั้งเอาไว้ที่ 4,100 ล้านบาท

และที่ผ่านมา แม้ว่ากองทัพเรือจะเป็นเหล่าทัพสุดท้ายที่มีอากาศยานไร้นักบินใช้งาน แต่ด้วยการจัดหาอากาศยานไร้นักบินหลายแบบในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ Orbiter 3B, Camcopter S-100, และ RQ-21 Blackjack ซึ่งถ้ารวมกับโครงการนี้ จะทำให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานที่มีอากาศยานไร้นักบินฝูงใหญ่ที่สุด โดยมีอากาศยานไร้นักบินหลากหลายขนาดและภารกิจ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.