อย่างที่เราทราบกันดีก็คือ กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหราชอาณาจักรเดินทางมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะส่วนหนึ่งของการวางกำลังครั้งแรกของเรือ HMS Queen Elizabeth หลังเข้าประจำการอย่างเป็นทางการ และส่วนหนึ่งของการวางกำลังก็คือการฝึกร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกองทัพเรือและชาติพันธมิตรตลอดเส้นทางการเดินทางกว่า 26,000 ไมล์จนถึงกำหนดการกลับสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม ซึ่งรวมถึงเรือ HMS Richmond ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือที่ประกอบกำลังเป็นกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทำการฝึก PASSEX ร่วมกับ #เรือหลวงกระบุรี และเฮลิคอปเตอร์ S-76B ของ #กองทัพเรือไทย ในน่านน้ำอันดามัน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่เรือ HMS Daring มาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2557
นอกจากบทบาททางด้านการทูต และการเชื่อมความสัมพันธ์กับกองทัพเรือไทยและประเทศไทยแล้ว เรือ HMS Richmond ยังแสดงถึงขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหราชอาณาจักรอีกด้วย แม้ว่าเรือ HMS Richmond ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชั้น Type-23 จะประจำการมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว แต่เรือได้รับการปรับปรุงใหญ่เมื่อปี 2547 ซึ่งมีการติดตั้งและปรับปรุงระบบเซนเซอร์และอาวุธกว่า 44 รายการใหญ่ ทำให้เรือ HMS Richmond ยังมีความทันสมัยและสามารถปฏิบัติหน้าทีไปได้อีกหลายปีก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยเรือฟริเกตสามแบบคือ Type-26, Type-31 และ Type-32
เรือ HMS Richmond ต่อที่อู่ Swan Hunter ใน Tyne and Wear ตอนเหนือของอังกฤษ (ปัจจุบันอู่ขายกิจการการต่อเรือ คงเหลือแต่การออกแบบเรือเท่านั้น) มีระวางขับน้ำ 4,900 ตัน ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์แบบ Rolls-Royce Spey SM1C สองเครื่อง และเครื่องยนต์ดีเซล์ MTU 12V 4000 M53 สี่เครื่อง และยังใช้ระบบเซนเซอร์และระบบควบคุมต่าง ๆ ที่ผลิตในสหราชอาณาจักรเช่น ระบบอำนวยการรบ INTeACT พร้อมเรดาร์ 3D แบบ Artisan ของ BAE Systems ระบบโซนาร์ภาคส่ง/ภาครับแบบ Sonar 2087 ของ Thales UK พร้อมทั้งเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือแบบ AW-159 Wildcat ที่ผลิตโดย Leonardo UK เช่นกัน
เช่นเดียวกับกองทัพเรือของสหราชอาณาจักร Thales ยังเป็นผู้ผลิตระบบอำนวยการรบและระบบเซนเซอร์หลักให้กับกองทัพเรือไทย คุณมัสสิโม มารินซิ กรรมการผู้จัดการ ของ Thales Thailand จำกัด กล่าวว่า “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัท Thales กับกองทัพไทยมีมายาวนานกว่า 50 ปี และในวันนี้เราภูมิใจที่จะกล่าวว่าระบบและโซลูชั่นของเรากว่า 80% นั้นได้มีโอกาสรับใช้กองเรือของกองทัพเรือไทย เมื่อสองปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จในการปรับปรุงเรือหลวงบางระจันที่ใช้ล่าทำลายทุ่นระเบิดให้มีความทันสมัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยปรับปรุงและยืดอายุการใช้งานของความสามารถ ในการปฏิบัติงาน ด้วยโซลูชั่นที่มาจากบริษัท Thales UK ความหลากหลายของเทคโนโลยีของเราที่แสดงบนเรือ HMS Richmond นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ถึงความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพของ Thales ในธุรกิจด้านการป้องกันประเทศทางทะเล และผมคาดหวังในทางที่ดีว่าระบบและโซลูชันเหล่านี้ จะสามารถนำไปใช้ได้และประสบความสำเร็จกับเรือของกองทัพเรีอไทยเช่นกัน”
Rolls-Royce เป็นบริษัทของสหราชอาณาจักรอีกบริษัที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนานทั้งในภาคพลเรือนและกองทัพ โดยมีลูกค้าหลักคือการบินไทยกับเครื่องยนต์ตระกูล Trent กองทัพเรือไทยคือเครื่องยนต์ Dart บน Fokker F27 เครื่องยนต์ T63 หรือ Model 250 ของ Allison ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Rolls-Royce บน Enstrom 480 และ AH-6i ของกองทัพบก และ Sikorsky S-76 ของกองทัพเรือ และเครื่องยนต์ T56 บนเครื่องบินลำเลียง Lockheed Martine C-130 Hercules ของกองทัพอากาศ นอกจากนั้น เครื่องยนต์ MTU ซึ่งผลิตโดย Rolls-Royce Power Systems AG ก็เป็นเครื่องยนต์ดีเซลล์หลักของกองทัพเรือไทยเช่นกัน
BAE Systems ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งของสหราชอาณาจักรที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานาน โดยเฉพาะการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทั้งเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ที่ร่วมมือกับบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ใช้แบบเรือชั้น River เพื่อส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทย ซึ่งการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทั้งสองลำในประเทศไทยนั้นมีส่วนในการส่งมอบความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถด้านวิศกรรมทางทะเลให้กับคนไทย ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยและเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน
พันเอกโทนี่ สเติร์น ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยกล่าวว่า
“ความสำเร็จของการฝึกร่วมระหว่างเรือ HMS Richmond และเรือหลวงกระบุรีนั้น เน้นให้เห็นถึงความสำคัญและความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงที่มีมายาวนานของสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นถึงความสามารถระดับโลกของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของสหราชอาณาจักร และ สหราชอาณาจักรจะยังคงสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นกับประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ ในด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงต่อไป”
ปัจจุบันนี้ กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหราชอาณาจักรเพิ่งเสร็จสิ้นการฝึกร่วมกับกองทัพเรือมาเลเซียและกองทัพเรือสิงคโปร์ และกำลังมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้เพื่อเดินทางต่อไปยังเอเชียตะวันออกที่กองเรือจะมีกำหนดการแวะพักและทำการฝึกร่วมกับกองทัพเรือเกาหลีใต้และกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ก่อนจะเริ่มการเดินทางขากลับไปยังสหราชอาณาจักรต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
“HMS Richmond ของกองทัพเรือสหราชอาณาจักรฝึกร่วมกับกองทัพเรือไทย สัญญาณแรกของนโยบาย Indo-Pacific Tilt ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร”
โพสนี้ในเฟจของเรา