ในการฝึกของกองทัพอากาศสหรัฐที่ฐานทัพอากาศ Osan ในเกาหลีใต้ F-16 สองลำพร้อมกับ A-10 แปดลำบินขึ้นเพื่อทำภารกิจการฝึกการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด ซึ่งการฝึกนี้เป็นการฝึกที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ นักบินทั้งหมดในภารกิจนี้ล้วนเป็นนักบินหญิงทั้งสิ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิเคราะห์สภาพอากาศที่ทำการบรรยายสรุปก่อนขึ้นบินก็เป็นสุภาพสตรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าหน้าที่วิทยุในหอควบคุมการบินไปจนถึงเจ้าหน้าที่ภาคพื้นล้วนเป็นสุภาพสตรีทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นศัยภาพของผู้หญิงในการปฏิบัติภารกิจทางทหารตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการปฏิบัติภารกิจ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 1993 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐในตอนนั้นได้อนุมัติให้นักบินหญิงสามารถทำการบินในภารกิจการรบได้ แม้ว่าหลังจากนั้นสามสิบปี จะมีนักบินขับไล่หญิงเพียง 103 คนเท่านั้นในกองทัพอากาศสหรัฐที่ปฏิบัติภารกิจในทุกวันนี้

นาวาอากาศเอก Katie Gaetke หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนของกองทัพอากาศที่ 7 กล่าวว่า “ฉันมีประสบการณ์การบินกับ F-16 มา 15 ปี และประจำการใน 10 ฝูงบิน แต่เคยมีนักบินหญิงร่วมงานกันเพียง 6 คนเท่านั้น ฉันไม่เคยอยู่ในฝูงที่มีนักบินหญิงมากกว่าหนึ่งคน ดังนั้นการมีนักบินหญิงถึงแปดคนในฝูงเดียวกันถือเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก”
“เมื่อคุณเป็นผู้หญิงแค่คนเดียว หรือเป็นแค่สองหรือสามคนในที่ใดที่หนึ่ง มันกลายเป็นภาระหน้าที่ที่คุณจะต้องเป็นตัวแทนของผู้หญิงทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผู้คนจะจำการปฏิบัติหน้าที่ของคุณและมองว่าสิ่งที่คุณทำเสมือนเป็นตัวแทนของผู้หญิงเหมือนคุณ เมื่อมืผู้หญิงแปดคนในฝูงเดียวกัน มันก็เลยดูเหมือนว่าจะมีผู้หญิงมากเพียงพอที่ทุกคนจะเป็นตัวของตัวเอง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมุมมองของตนเอง พยายามเสี่ยง สร้างนวัตกรรม และทำผิดพลาดได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะกลายเป็นภาพที่คุณจะถูกมองเหมารวมจากสังคมหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่กองทัพอากาศของเราได้รับอย่างแท้จริงจากมุมมองที่หลากหลาย เมื่อความหลากหลายไม่ใช่สิ่งผิดปกติ แต่เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องมี”
ในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศสหรัฐพิสูจน์ว่า นักบินหญิงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ต่างจากนักบินชายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของนักบินหญิงก็เพิ่มขึ้นจนตอนนี้ในบางครั้งก็ไม่เกิดความรู้สึกแปลกใหม่เมื่อเราเห็นหนักบินหญิงจำนวนมากอีกแล้ว

Grace Herrman นักบินโจมตี A-10 กล่าวว่า “ในตอนที่ฉันจบจากโรงเรียนการบิน ฉันเจอกับนักบิน F-22 หญิงที่ประจำการในบ้านของฉันในอลาสก้า เธอบอกฉันว่าเธอเข้าเรียนในโรงเรียนนายเรืออากาศ และเธอก็หัดขับเครื่องร่อนจนได้รับเลือกให้มาเป็นนักบิน ณ วินาทีนั้นฉันก็ตระหนักว่าการเป็นนักบินขับไล่นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับผู้หญิง และฉันต้องการเป็นนักบินขับไล่ การพูดคุยในวันนั้นมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเธอ แต่สำหรับฉันมันเปลี่ยนชีวิตฉันไปเลย”
หลังจากภารกิจ ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และกลุ่มเนตรนารีได้ร่วมแสดงความยินดีกับเจ้าหน้าที่ในภารกิจนั้น นาวาอากาศเอก Katie Gaetke กล่าวว่า
“ความสำคัญในการบินวันนี้ไม่ใช่แค่สำหรับเรา แต่สำหรับเด็กผู้หญิงหลายคนที่ยังไม่เคยเห็นนักบินหญิงตัวจริง แม้แต่นักบินหญิงถึงสิบคน เราบินให้กับพวกเธอเพื่อที่พวกเธอจะได้รู้ว่า แค่พวกเธอมีความเชื่อเท่านั้น สักวันหนึ่งพวกเธอก็จะเป็นนักบินขับไล่ได้”
ในหลายประเทศ การมีนักบินหญิง หรือแม้แต่นักบินขับไล่หญิงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้ว ประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าถ้านักบินหญิงสามารถผ่านการเรียนและการฝึกได้ ก็สามารถปฏิบัติภารกิจได้ คำถามที่ว่านักบินหญิงจะปฏิบัติภารกิจได้เหมือนนักบินชายไหมจึงเป็นคำถามที่ไม่ต้องถามแล้วด้วยซ้ำในต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย กองทัพอากาศไทยเคยทดลองรับนักบินหญิงเข้ามาเป็นนักบินปฏิบัติการจริงในกองทัพอากาศอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อศึกษาถึงผลดีผลเสียของการรับนักบินหญิง แม้ว่านักบินหญิงเหล่านั้นหลายคนจะยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่เรายังไม่ได้ยินว่าผลลัพธ์ของโครงการนี้เป็นอย่างไร หรือกองทัพอากาศจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต และไม่รู้ว่าจะเป็นเพียงโครงการที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแบบหลาย ๆ โครงการของกองทัพหรือไม่
ยังมีอุปสรรคอีกจำนวนมากที่ยังทำให้ประเทศไทยไม่มีนักบินหญิง หรือแม้แต่ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในกองทัพอย่างเท่าเทียม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในแง่กฎระเบียบของกองทัพเองที่กีดกันตั้งแต่ต้น เช่น กำหนดว่าผู้ที่จะเข้าโรงเรียนการบินได้ต้องเป็นผู้ที่จบโรงเรียนนายเรืออากาศ ผู้ที่จะเข้าโรงเรียนนายเรืออากาศได้ต้องเป็นผู้ที่จบโรงเรียนเตรียมทหาร และผู้ที่จะเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ก็ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ประกอบกับทัศนคติของผู้ชายในกองทัพเองที่มองว่า ขนาดผู้ชายที่อยากเป็นยังเป็นได้ไม่หมดเลย จะให้ผู้หญิงมาแย่งที่นั่งได้อย่างไร หรือแม้แต่มองว่าผู้หญิงไม่สามารถปฏิบัติงานได้ดีเท่ากับผู้ชาย จึงยังไม่มีใครใส่ใจที่จะแก้ไขกฎระเบียบหรืออุปสรรคเหล่านั้น เนื่องจากไม่มีใครอยากจะแก้ไขเพื่อให้ตัวเองเสียผลประโยชน์ อนาคตของการมีนักบินหญิงหรือแม้แต่การให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในกองทัพจึงยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลเป็นอย่างมาก
แต่ TAF เชื่อว่า เมื่อมาดูจำนวนผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารที่ลดลงทุกปี แม้ว่าจะมีสาเหตุจากเรื่องอื่นด้วย และเมื่อมองไปยังอัตราการเกิดของคนไทยก็พบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยเริ่มคงที่และเริ่มลดลงด้วยซ้ำ การเป็นทหารเริ่มไม่ใช่อาชีพที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็น และด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป TAF เชื่อว่าสักวันหนึ่งกองทัพก็ต้องเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็แลกกับการที่กองทัพจะไม่มีผู้ชายที่มีคุณภาพหรือจำนวนมากพอที่จะเข้ามาเป็นนักบินของกองทัพ
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะยังคงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากการที่กองทัพยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และการเป็นองค์กรที่อนุรักษ์นิยม ยากที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก แต่ด้วยสภาวะแวดล้อมในอนาคต เชื่อว่าสักวันหนึ่งคงจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง และความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในด้านการปฏิบัติหน้าที่ ความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงค่าตอบแทนจะมาถึงในอนาคต แม้ว่าจะช้าหน่อย หรือช้ามาก ๆ ก็ตามครับ
ขอขอบคุณสมาชิก TAF คุณ Sittisede Polwiang ที่แจ้งข่าว สมาชิกที่สนใจร่วมพูดคุยในประเด็นนี้สามารถพูดคุยได้ที่โพสในกลุ่มของเราที่ https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/posts/3087889648122371/
โพสนี้ในเพจของเรา