จากการที่ ผู้บัญชาการทหารอากาศระบุชัดเจนว่าจะเสนอโครงการซื้อ F-35 ในปีงบประมาณ 2566 ดังนั้น TAF จะลองมาไล่ Timeline คร่าว ๆ ให้ฟัง รวมถึงคาดการณ์งบและการแบ่งเฟสของโครงการ และวิเคราะห์ว่า จะเป็นไปได้ไหมที่กองทัพอากาศจะซื้อ F-35 ได้ในปีงบประมาณ 2566 นี้
ขั้นตอนการของบประมาณ
โดยปกติแล้วหน่วยงานราชการจะเริ่มจัดทำงบประมาณกันตั้งแต่เดือนตุลาคม ดังนั้นสำหรับปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ก็แปลว่าหน่วยงานราชการได้เริ่มเขียนงบประมาณกันตั้งแต่ตุลาคม 2565 แล้ว กองทัพอากาศก็เช่นกัน
ภายในเดือนมกราคม 2565 นี้โครงการ F-35 ควรต้องผ่าน กองบัญชาการกองทัพไทย และเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว เพื่อไปพิจารณาว่าหน่วยงานไหนโครงการไหนและใครจะได้เงินกันเท่าไหร่ (แบบคร่าว ๆ ตามตัวเลขคร่าว ๆ ที่สำนักงบประมาณให้มา) เมื่อกะคร่าว ๆ ได้แล้วก็จะแจ้งกลับเหล่าทัพว่าใครจะได้อะไรกันบ้าง
ปีที่ผ่านมา โครงการจัดหา C-130J ก็ตกที่ขั้นตอนนี้ คือไม่ผ่านการพิจารณาจากกระทรวงกลาโหม
เมื่อกองทัพกลับไปปรับโครงการรอบสุดท้ายก็จะยืนยันโครงการไปที่กระทรวงกลาโหมเพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่มาถึงตรงนี้มักไม่ค่อยโดนตัดแล้ว คณะรัฐมนตรีก็จะอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ได้ในมีนาคม 2565 หรืออย่างช้าคือเมษายน 2565
จบจากตรงนี้จะเสนอเข้าสภาซึ่งจะพิจารณากันสามวาระ วาระแรกน่าจะพิจารณากันได้ราว ๆ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเมื่อรับหลักการในวาระแรกแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็จะตั้งกรรมาธิการงบประมาณมาพิจารณากันในวาระสอง
วาระสองนี่แหละจะเป็นตัวชี้ชะตา เพราะส่วนใหญ่โครงการต่าง ๆ จะโดนตัดกันในวาระนี้ อย่างเรือดำน้ำของกองทัพเรือก็ถูกถอนข้อเสนอของบประมาณในวาระนี้ไปสองรอบ โครงการที่ถูกตัดก็จะตกไป งบที่กันไว้สำหรับโครงการเหล่านั้นก็จะถูกดึงออกไปรวมกันเพื่อแปรญัตติอีกครั้ง
ผ่านวาระสองก็จะเข้ามาพิจารณาวาระสามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งน่าจะผ่านไม่เกินเดือนสิงหาคม 2565
หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งไม่มีอะไรแก้เท่าไหร่ สุดท้ายร่างจะรอลงพระปรมาภิไธยราว ๆ กันยายนหรืออาจจะล่าช้าไปราวตุลาคม 2565
ดังนั้นเราจะรู้ว่า F-35 จะได้หรือไม่ในขั้นตอนแรก ก็คืออีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนนี้แล้ว
จริง ๆ จะมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่แยกกันก็คือ ในไตรมาส 1 ปี 2565 กองทัพอากาศต้องยื่น Letter of Intent ผ่าน JUSMAG ว่าต้องการจัดหา F-35 ผ่านระบบ Foreign Military Sale หรือ FMS ไปให้สหรัฐพิจารณา ซึ่งผู้ที่จะพิจารณาว่าจะขาย F-35 ให้ไทยหรือไม่คือกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และมีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐให้ความเห็นควบคู่กัน ถ้ารัฐบาลสหรัฐเห็นด้วยในการขาย ก็จะมีการแจ้งการอนุมัติการขายต่อสภาคองเกรส ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่เกินไตรมาส 3 ปี 2565 โดยจะระบุรายละเอียดของอาวุธและอุปกรณ์ที่จะขายให้ไทย รวมถึงมูลค่าสูงสุดที่เป็นไปได้ โดยสภาคองเกรสจะมีเวลา 30 วันที่จะคัดค้าน ถ้าไม่คัดค้าน รัฐบาลสหรัฐก็จะสามารถอนุมัติการขายได้
การจัดหาผ่าน FMS นั้น ถ้าเป็นกลไกระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คือไม่ต้องออกราคากลางหรือเปิดประมูลแข่งขันกัน สามารถข้ามไปได้เลย
โครงการจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ กี่เฟส กี่ปี
TAF ยังสงสัยคำพูดของผู้บัญชาการทหารอากาศที่บอกว่า F-35 มีราคาเพียงลำละ 80 ล้านเหรียญเท่านั้น เพราะราคานี้เป็นราคาที่สหรัฐซื้อใช้เอง ซึ่งสหรัฐเป็นผู้ลงทุนวิจัยโดยใช้เงินกว่าล้านล้านบาท และเป็นราคาตัวเปล่า ไม่มีอุปกรณ์หรืออาวุธรวมอยู่ด้วย
เมื่อพิจารณาจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้ร่วมลงทุนวิจัยและทำการจัดหา F-35 ผ่านระบบ FMS ล้วนแต่ต้องจ่ายราว ๆ 145 ล้านเหรียญต่อลำ ซึ่งเป็นราคาของเครื่องบินรวมอุปกรณ์และอาวุธ ถ้าตัดอาวุธออกไปจะเหลือราวลำละ 130 ล้านเหรียญสหรัฐอยู่ดี
เครื่องบินไม่สามารถซื้อมาตัวเปล่าได้ ต้องซื้อมาพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติการร่วมกับเครื่องบินและซ่อมบำรุง มิเช่นกันก็จะใช้งานไม่ได้
ดังนั้นคิดในสองกรณีก็คือ ถ้าผู้บัญชาการทหารอากาศทำได้อย่างที่พูดจริง ๆ คือซื้อเครื่องบินพร้อมอุปกรณ์ได้ในราคา 80 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ ก็จะใช้เงินทั้งโครงการคือ 960 ล้านเหรียญสหรัฐต่อ 1 ฝูงคือ 12 ลำ ซึ่งคิดเป็น 31,680 ล้านบาท ไม่รวมอาวุธ
แต่ถ้าคิดในความเป็นจริงที่เป็นไปได้มากกว่า คืออ้างอิงการจัดหาผ่าน FMS ของหลาย ๆ ประเทศเช่นเกาหลีใต้ โปแลนด์ หรือฟินแลนด์ ราคาของ F-35 รวมอุปกรณ์และอาวุธจะอยู่ที่ราว 145 ล้านเหรียญ ก็จะใช้เงินทั้งโครงการคือ 1,740 ล้านเหรียญสหรัฐต่อ 1 ฝูงคือ 12 ลำ ซึ่งคิดเป็น 57,420 ล้านบาท
ดังนั้นโครงการน่าจะแบ่งเป็นสามเฟส เฟสละ 4 ลำ ใช้เงินต่อเฟสราว 10,560 ถึง 19,140 ล้านบาท แบ่งจ่ายเฟสละ 4 ปี เว้นต่อเฟสสองปี เช่น
เฟสที่ 1 ปี 2566 – 2570
เฟสที่ 2 ปี 2568 – 2572
เฟสที่ 3 ปี 2570 – 2574
ด้วยคิวการผลิตที่มีไม่มากนัก ทำให้ลูกค้า FMS ต้องรอเครื่องบินราว ๆ 6 – 7 ปีหลังจากสั่งซื้อ ถ้ากองทัพอากาศได้งบประมาณและลงนามในสัญญาได้ในปี 2566 แปลว่ากองทัพอากาศน่าจะได้รับมอบเครื่องบินลำแรกในปี 2573 เป็นต้นไป
มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะได้รับงบประมาณในปี 2566
TAF คิดว่าค่อนข้างยาก
เพราะเมื่อพิจารณาจากการขอจัดหา C-130J จำนวน 12 ลำ ซึ่งใช้งบประมาณใกล้เคียงกันคือราว 4 หมื่นล้านบาท โครงการไม่ใช่ไม่ผ่านสภา แต่ไม่ผ่านกระทรวงกลาโหมด้วยซ้ำ ผ่านมา 1 ปี สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่โครงการจะผ่านไปได้
ถ้าโครงการนี้รอดไปถึงสภา ก็น่าจะยากมากที่จะผ่านวาระสอง โดยเฉพาะมีปัจจัยอื่นภายในประเทศอีก ซึ่งเราขออนุญาตไม่วิเคราะห์ต่อเพราะผิดกฎของเรา TAF จึงคิดว่า ยากมากที่จะผ่านในปีงบประมาณ 2566
ความเป็นไปได้ เร็วที่สุดน่าจะเป็นปีงบ 2567 หรือ 2568 มากกว่า
และผู้บัญชาการทหารอากาศไม่ได้เอ่ยถึงการให้คนไทยหรืออุตสาหกรรมของไทยมีส่วนร่วมในโครงการ หรือไม่ได้เอ่ยว่าจะเจรจาให้สหรัฐอเมริกาดึงอุตสาหกรรมไทยเข้าไปมีส่วนร่วม หรือจะเข้ามาลงทุนอะไรทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องคืออุตสาหกรรมการบิน (Direct Offset) หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Indirect Offset) ซึ่งถ้าไม่มี ก็จะทำให้ข้ออ้างในการจัดหาอาวุธในโครงการนี้น้อยลงไปอีก เพราะเป็นการใช้งบประมาณมหาศาลโดยที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้อะไร ซึ่ง TAF ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณจำนวนมากแล้วคนไทยไม่ได้อะไรแบบนี้
และด้วยภาวะงบประมาณแบบนี้ กองทัพอากาศจะสามารถเลือกทำโครงการได้เพียงโครงการเดียว ระหว่าง C-130J และ F-35 ถ้ากองทัพอากาศเลือก F-35 แปลว่ากองทัพอากาศอาจจะจัดหา C-130J ไม่ได้ไปอีก 10 ปี นั่นหมายถึงกองทัพอากาศต้องหาทางยืดอายุการใช้งาน C-130H ในปัจจุบันให้มีอายุการใช้งานให้ได้ถึง 60 ปีหรือมากกว่า
อะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง C-130J หรือ F-35 แล้วแต่ทุกท่านจะเห็นอย่างไรครับ