รู้จัก T-6 Texan II เครื่องบินฝึก/โจมตีแบบใหม่ของกองทัพอากาศไทย

T-6 Texan II กลายมาเป็นเครื่องบินฝึกแบบใหม่ของกองทัพอากาศในการจัดหาภายใต้งบประมาณ 5,195 ล้านบาท ซึ่งรวมไปถึงเครื่องบินโจมตีแบบใหม่ของกองทัพอากาศไทยด้วย การจัดหาในครั้งนี้จะทดแทนเครื่องบินฝึก PC-9M ที่กำลังจะหมดอายุลง และจะทดแทนเครื่องบินโจมตี L-39ZA/ART ที่ฝูงบิน 411 เชียงใหม่ โดยจะทดแทนฝูงละ 12 ลำ รวมอย่างน้อย 24 ลำ ซึ่งถือว่าลดจำนวนเครื่องต่อฝูงลง แต่ก็มาพร้อมกับโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยในการมีส่วนร่วมผลิตและปรับปรุงเครื่องบินแบบนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยสามารถมีส่วนร่วมได้มากขนาดนี้

T-6 Texan II เอาชนะ KT-1 Wongbee และ PC-21 แบบที่แม้ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ก็ถือว่าน่าแปลกใจพอสมควร เราลองมาทำความรู้จัก T-6 Texan II เพิ่มขึ้นกันอีกสักนิดครับ

T-6 Texan II เป็นการซื้อแบบเครื่องบินฝึก PC-9 มาพัฒนาต่อเพื่อเข้าแข่งขันในโครงการจัดหาระบบเครื่องบินฝึกขั้นต้นร่วมของกองทัพสหรัฐ ซึ่งสุดท้ายได้รับเลือกให้เป็นเครื่องบินฝึกมาตรฐานสำหรับนักบินของกองทัพสหรัฐทั้งสามเหล่า โดยเข้าประจำการในครั้งแรกเมื่อราว 20 ปีก่อน นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องบินฝึกมาตรฐานของกองทัพอากาศสหรัฐอาณาจักร กองทัพอากาศนิวซีแลนด์ กองทัพอากาศโมร็อคโค กองทัพอากาศและกองทัพเรือเม็กซิโก กองทัพอากาศอิสราเอล กองทัพอากาศกรีซ กองทัพอากาศอิรัก กองทัพอากาศอาร์เจนติน่า และกองทัพอากาศแคนาดา โดยกองทัพอากาศไทยจะเป็นชาติผู้ใช้ชาติที่ 11 ของ T-6 Texan II โดยมีจำนวนการผลิตมากกว่า 850 ลำ

คาดว่า T-6TH ซึ่งเป็นรหัสของกองทัพอากาศไทยจะมีพื้นฐานมาจาก T-6C Texan II รวมถึง A-6TH ที่จะเป็นเครื่องบินโจมตีก็น่าจะมีพื้นฐานมาจาก AT-6B Wolverine เช่นกัน

AT-6 Wolverine. Photo by Textron Aviation

โดยรหัส TH ของไทยแสดงถึงการปรับปรุงเฉพาะของกองทัพอากาศไทย เนื่องจากกองทัพอากาศระบุความต้องการให้กองทัพอากาศและบริษัทเอกชนของไทยสามารถเข้าไปแก้ไขซอฟแวร์ควบคุมการบินหรือ Operation Flight Program ของเครื่องได้ ซึ่ง Textron Aviation ผู้ผลิตยินยอมตามข้อกำหนดทั้งหมด โดยผู้ผลิตคือ Textron Aviation กับ Lockheed Martin รวมถึง CMC Electronics และ Diehl จะร่วมมือกับ R V Connex และ TAI ของไทย ในการปรับปรุงและประกอบขั้นสุดท้ายเพื่อส่งมอบให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งอาจรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนในประเทศไทย

ตามแผนงานคาดว่ากองทัพอากาศจะมีการปรับปรุงค่อนข้างมากในรุ่น A-6TH โดยจะติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้แบบ IRIS-T ที่เป็นขีปนาวุธมาตรฐานของกองทัพอากาศในปัจจุบัน ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกที่ T-6 Texan II จะสามารถติดตั้ง IRIS-T ได้ ซึ่งจะดำเนินการหลักโดย R V Connex ที่เคยร่วมบูรณาการณ์ติดตั้ง IRIS-T บน F-5TH มาก่อน ทั้งนี้ A-6TH จะใช้สถาปัตยกรรมระบบภารกิจแบบเดียวกับที่ติดตั้งบนเครื่องบินโจมตีแบบ A-10C Thunderbolt II และใช้ชุดเซนเซอร์ที่ปรับปรุงมาจากเครื่องบินลาดตระเวนหาข่าวแบบ MC-12W Liberty ห้องนักบินคาดว่าจะร่วมออกแบบโดย CMC Electronic ซึ่งเป็น Partner กับ R V Connex ของไทยในการออกแบบห้องนักบินของ Alphajet มาก่อนแล้ว

T-6C Texan II. Photo by Textron Aviation

ระบบอาวุธจะสามารถใช้ปืนขนาด .50 นิ้ว หรือ 20 มม. ติดตั้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์นำวิถีด้วยเลเซอร์ และระเบิดชนิดอื่น ๆ และในอนาคตจะรวมถึงการติดตั้งระบบ Datalink แบบ Link-TH ซึ่งเป็น Link มาตรฐานของกองทัพอากาศไทย โดยการประกอบขั้นสุดท้ายจะดำเนินการในประเทศไทย คาดว่าจะเป็นที่โรงงานของ TAI และอาจรวมถึงการให้บริษัทเอกชนไทยผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนอีกด้วย

การซื้ออาวุธไทย หรือซื้ออาวุธนอกแต่คนไทยได้งาน ได้ผลิต ได้รับเทคโนโลยี จะมีอย่างต่อเนื่องถ้ากองทัพอากาศดำเนินนโยบายตามสมุดปกขาวไปอีก 20 ปีได้สำเร็จ โครงการในลักษณะนี้จะเป็นข้ออ้างชั้นดีในการขอให้ฝ่ายการเมืองสนับสนุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมและรายได้ให้กับประเทศ และจะเป็นการช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของไทย ลดการสูญเสียงบประมาณทางทหารออกไปนอกประเทศ และเป็นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงและหลายมิติ ซึ่งควรจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างและพัฒนากองทัพของไทยต่อไป