โครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน MALE ของกองทัพเรือไทยในปี 2565

มีข่าวมาสักพักตั้งแต่งาน Defense and Security 2019 และยืนยันจากกระแสข่าวล่าสุดในการของบประมาณปี 2565 ว่ากองทัพเรือให้ความสนใจจัดหาอากาศยานไร้นักบินหรือ UAV แบบ Medium-Altitude Long-Endurance (MALE) หรืออากาศยานไร้นักบินที่บินที่ความสูงปานกลาง และมีระยะเวลาบินนาน โดยในตอนนั้นระบุรุ่นไปเลยว่าเป็น CH-4A ของ China Aerospace Science and Technology Corporation หรือ CASC จากประเทศจีน โดยคาดว่าจะมีการจัดหาในเวลาไล่เลี่ยกับการจัดหาเรือยกพลขึ้นบก Type-071E จากจีนเช่นกัน

CH-4A เป็น UAV ที่น่าจะได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก UAV ตระกูล Predator/Reaper ของสหรัฐ โดยตัว UAV ขนาดใหญ่ กางปีก 18 เมตร น้ำหนักบรรทุก 345 กิโลกรัม บินได้นาน 40 ชั่วโมง โดยในรุ่น B นั้นสามารถติดอาวุธได้เช่นจรวดขนาดเบาต่าง ๆ โดย CH-4 ทั้งรุ่น A และ B นั้นมีใช้งานในหลายประเทศเช่นปากีสถาน อิยิปต์ ซาอุดิอารเบีย อัลจีเรีย อิรัก และในอาเซียนก็มีเมียนมาร์ที่ใช้งาน โดยส่วนมากแล้วในตะวันออกกลางจะใช้งานรุ่น B ที่ติดอาวุธได้ด้วย และมีผลงานในการรบเช่นในเยเมนที่ซาอุดิอาระเบียใช้ CH-4B โจมตีเป้าหมาย

ทั้งนี้สัญญายังไม่เกิดขึ้น และจากภาวะโควิด-19 รวมถึงงบประมาณผูกพันของกองทัพเรือในด้านอื่นเช่น การจัดหาจรวดต่อสู้อากาศยาน FK-3 จากจีนมูลค่า 1.9 พันล้านบาท เรือดำน้ำ S26T จากจีนมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท รวมถึงเรือยกพลขึ้นบก Type-071E จากจีนมูลค่า 6.1 พันล้านบ้าน ทำให้กองทัพเรือมีภาวะงบประมาณที่ตึงตัว และยังไม่สามารถจัดหา UAV ขนาดใหญ่ได้

อนึ่ง การเลื่อนการจัดหาเรือดำน้ำ S26T ในลำที่ 2 และ 3 มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาทของกองทัพเรือออกไป อาจทำให้กองทัพเรือได้รับ “โครงการปลอบใจ” เช่นจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ https://thaiarmedforce.com/2020/10/22/rtn-buy-the-short-range-sam/ ซึ่งอากาศยานไร้นักบินขนาดใหญ่นั้นอาจเป็นหนึ่งในโครงการปลอบใจก็ได้ ซึ่งเราไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากกองทัพเรือไม่ได้เปิดเผยโครงการของตนเอง โดยให้นโยบายว่าไม่ต้องการจัดหาอาวุธผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ต่างจากเหล่าทัพอื่นที่เปิดเผยเพื่อความโปร่งใส


ในอีกด้านหนึ่ง มีข่าวว่าผู้ผลิต UAV จากอิสราเอลซึ่งเป็นประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำตลาดของ UAV นั้นให้ความสนใจในโครงการนี้ของกองทัพเรือไทย และต้องการเสนอ UAV ของตนเช่น UAV ตระกูล Hermes 450/900 โดย Hermes 450 มีขนาดเล็กและราคาถูกกว่าคือราว 2 ล้านเหรียญ หรือ Hermes 900 ที่มีขนาดใหญ่กว่าและประสิทธิภาพสูงกว่า แต่มีราแพงกว่ามากคือราว 30 ล้านเหรียญ เทียบกับ CH-4 ที่มีราคาถูกคือ 5 ล้านเหรียญ ซึ่งแม้ว่า Hermes ของอิสราเอลจะมีขีดความสามารถสูงกว่า CH-4 ของจีนอย่างชัดเจน และมีผู้ใช้งานแล้วในไทยคือกองทัพบกที่จัดหา Hermes 450 เข้าประจำการ แต่ในช่วงหลังผู้ผลิตจากจีนค่อนข้างประสบความสำเร็จในกองทัพเรือไทยด้วยการเสนออาวุธราคาถูกในประสิทธิภาพที่พอยอมรับได้ การที่ Hermes จะแข่งขันนั้นอาจต้องเสนอออปชั่นที่ดึงดูดมากพอ เพื่อให้กองทัพเรือยอมลงทุนในราคาสูงขึ้นอีกนิดแต่ได้ประสิทธิภาพสูงกว่า UAV จากจีนมาก

นอกจากนั้นยังมีข่าวว่าผู้ผลิต UAV รายอื่นของจีนที่สามารถขาย UAV เข้าประจำการในกองทัพจีนได้แล้วนั้นสนใจที่จะเข้ามาแข่งขันด้วยเช่น Wing Loong ของ CAIG หรือ BZK-005E ของ Harbin Aircraft Industry ด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ไม่มีรายงานว่ากองทัพเรือได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือให้บริษัทไทยเข้าร่วมในการพัฒนาแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่พอจะมีในตอนนี้ และเรายังต้องดูว่าโครงการจะผ่านครม.หรือผ่านสภาเพื่อบรรจุเป็นโครงการในปี 2565 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทัพเรือมี UAV ใช้งานหลายแบบคือ Orbitor 3B จากอิสราเอล RQ-21 Blackjack ของสหรัฐ และ S-100 ของออสเตรียครับ

1 thoughts on “โครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน MALE ของกองทัพเรือไทยในปี 2565

  1. CH-3 UAV จีนนั้นมีภาพยืนยันออกมาก่อนหน้านี้ได้หลายปีแล้วว่ากองทัพอากาศพม่ามีใช้งานจำนวนหนึ่ง
    แต่ CH-4 UAV นั้นถึงมีหลายแหล่งอ้างว่ากองทัพพม่าจัดหามาแล้ว แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ก็ยังไม่ภาพที่ยืนยันได้ชันเจนว่าจริงหรือไม่

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.