ปี 65 ทร. อาจต่อเรือ OPV เพิ่ม จะเป็นเรือชั้น Khareef ได้หรือไม่?

ตามข่าวล่าสุดที่ระบุว่า งบปี 65 นั้น กองทัพเรืออาจจะจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งหรือ OPV ลำใหม่ ราคา 6.5 พันล้านบาท ซึ่งราคานี้สูงกว่าในยุคที่จัดหาเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเรือชุด ร.ล.กระบี่ ไป 1 พันล้านบาท อ้างอิงจากงบประมาณเดิมของเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ที่ 5.5 พันล้านบาทในช่วงปี 59

แน่นอนว่าเมื่อเวลาต่างกัน ราคาก็อาจเพิ่มขึ้นตามปีด้วย แต่มองในอีกแง่หนึ่ง กองทัพเรืออาจมีความต้องการเรือ OPV ที่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ แต่ว่าความยาวของเรือชุดกระบี่ ที่ 90 เมตรนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าดูจากสเปกของเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ที่ขยายดาดฟ้าบินให้รองรับเฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B ได้ จึงเป็นไปได้สูงว่า OPV ใหม่ จะมีโรงเก็บ เฮลิคอปเตอร์สำหรับ S-70B ด้วย จากงบที่เพิ่มมา 1 พันล้านบาท


ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่าทำไมกองทัพเรือถึงต้องการเอาเฮลิคอปเตอร์ S-70B ไปปฏิบัติการจากเรือ OPV ซึ่งเป็นเรือสำหรับยามสงบเป็นหลัก ถือเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน ว่ากองทัพเรือมีความตั้งใจที่จะใช้งานร่วมกันยังไงระหว่างเฮลิคอปเตอร์แบบนี้กับเรือ OPV

อนึ่ง S-70B มีเรดาร์พื้นน้ำใช้ค้นหาเป้าที่ระยะเกินขอบฟ้าสำหรับการยิงจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำหรือ AShM ได้ ซึ่งในกรณีนี้กองทัพเรืออาจต้องการเรือ OPV ติดจรวดมาทดแทนในอัตราเรือเร็วโจมตี (อาวุธปล่อยนำวิธี) ที่ปลดไปแล้ว เพื่อให้มีเรือที่ติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำเพียงพอตามอัตราที่ต้องการ

การใช้งานอีกแง่หนึ่ง อาจใช้เรือ OPV เป็นจุดแวะเติมเชื้อเพลิงและติดอาวุธเพิ่มให้กับเฮลิคอปเตอร์ในกรณีรบเป็นกองเรือแล้วส่ง OPV ไปวางตัวเป็น radar picket ห่างจากเรือลำอื่น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเรือหรืออากาศยานล่วงหน้าหรือแยกออกไปปฏิบัติการนอกกองเรือเพื่อเพิ่มพื้นที่ตรวจจับของเรดาร์ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น


ดังนั้นถ้าตามสมมุติฐานนี้ และคาดการณ์ว่ากองทัพเรือน่าจะสั่งต่อเรือจากอู่ BAE Systems และบริษัท อู่กรุงเทพ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกองทัพเรือเหมือนเดิมเนื่องจากมีความคุ้นเคยกับแบบเรือและหลักการต่อเรือของ BAE Systems อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้กองทัพเรือและอู่กรุงเทพทำการต่อเรือได้ง่ายกว่า และ TAF ลองคาดเดาสเปกของเรือ OPV ลำใหม่โดยอ้างอิงจากเรือชุดเรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือชั้น River class batch 2 ของสหราชอาณาจักร แต่จะเพิ่มโรงเก็บโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์และต้องมีจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำด้วย ก็คงเป็นเรือชั้น Khareef ของโอมาน ซึ่งยาวกว่าที่ 99 เมตร และลำตัวเรือกว้างกว่าเล็กน้อย แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วเรือชั้น River กับชั้น Khareef จะแตกต่างกันบ้างในหลายจุด

เรือ OPV ชั้น Khareef ในปี 2006 นั้นมีราคาลำละ 5.7 พันล้านบาท ถ้าคิดค่าเงินที่เปลี่ยนไปจากเงินเฟ้อ ในปี 2021 จะมีราคาลำละ 7.8 พันล้านบาท แต่สเปกเรือของกองทัพเรือโอมานก็สูงกว่าที่กองทัพเรือไทยต้องการ เช่น มีจรวด VL-MICA ถึง 12 นัด มีเรดาร์ระยะ 250 กม. โดยใช้เรดาร์ SMART-S Mk. 2 ของ Thales มีระบบขับเคลื่อนดีเซล-ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นออปชั่นระดับสูงและอาจจะมากเกินความจำเป็นสำหรับการเป็นเรือ OPV ของกองทัพเรือไทยซึ่งจะเน้นที่การต่อเรือที่ประหยัดกว่าแต่ใช้งานได้ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ดังนั้น ถ้าตัดออปชั่นออกไป ราคาน่าจะลดลงมาตามงบ 6.5 พันล้านได้

แต่อย่างไรก็ตาม เรือ OPV ลำใหม่นี้น่าจะดำเนินการต่อที่อู่ในประเทศค่อนข้างแน่ เพียงแต่จะใช้แบบเรือของอู่ไหนเท่านั้น ถ้าเป็นเรือที่แปลงจากชั้น Khareef ของบริษัท BAE Systems ก็จะเป็นการจ้างบริษัทพันธมิตรเดิมระหว่าง BAE Systems กับอู่กรุงเทพเหมือนเดิม และเหมือนกับที่ทั้งสองบริษัทเสนอตัวไปแข่งในโครงการจัดหาเรือ OPV ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ด้วย


อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการให้ BAE Systems ทำการขยายแบบเรือชุดกระบี่ให้ยาวขึ้นกว่าเดิมอีกเพื่อให้วางโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าแค่ไหนในการทำวิจัยและออกแบบเรือใหม่เพื่อต่อเพียง 1 ลำ เมื่อเทียบกับการนำแบบเรือใหม่คือเรือชั้น Khareef มาต่อเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา

หรือกองทัพเรืออาจจะเลือกมองเรือ OPV ของผู้ผลิตรายอื่นเช่น MEKO ของ TKMS หรือ SIGMA ของ Damen ซึ่งมีข่าวว่าทั้งสองบริษัทเคยเข้ามาแข่งขันกับ BAE Systems แล้วตั้งแต่ต้น แต่แพ้ไป โดยเรือชั้น SIGMA นั้นมีกองทัพเรืออินโดนีเซียใช้งานอยู่ และเรือ MEKO ก็มีกองทัพเรือมาเลเซียใช้งานอยู่เช่นกัน และใช้งานในบทบาทของ OPV เช่นเดียวกับเรือหลวงกระบี่ คือติดอาวุธเพื่อการรบพื้นสู่พื้นเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการต่อเรือ OPV ลำใหม่ของกองทัพเรือในปี 65 นั้นยังเป็นเพียงการเริ่มต้น ซึ่งยังไม่แน่ใจว่างบประมาณจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ และถ้าผ่าน โครการก็จะเริ่มหลังเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งถึงตอนนั้นเราน่าจะเห็นภาพชัดขึ้น ในตอนนี้ก็เป็นการคาดเดาและการวิเคราะห์ไปก่อน ซึ่งถ้าท่านใดมีข้อมูลอยากแลกเปลี่ยนความเห็น หรืออยากเสนอแบบเรือที่น่าสนใจจะมาเป็นเรือ OPV ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ที่กล่องคอมเมนต์ครับ


พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ที่

“เรือชั้น #Khareef กับเรือชุด #กระบี่ #เหมือนกันแค่ไหน ??”

https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2917474615163876

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

“เรือชั้น Khareef = OPV ลำต่อไปของเรา ??”

https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2353109068267103/

1 thoughts on “ปี 65 ทร. อาจต่อเรือ OPV เพิ่ม จะเป็นเรือชั้น Khareef ได้หรือไม่?

  1. แบบเรือชั้นKhareefเป็นเรือคอร์เวตแต่ทร.ไทยก็ต้องการเรือopvและเรือฟริเกตใหม่ถ้าเป็นเรือคอร์เวตชั้นkhareefที่ทดแทนจำนวนเรือฟริเกตทร.ไทยในกองเรือฟริเกตแล้วยังเป็นopvกองเรือตรวจอ่าวประเทศเพื่อนบ้านก็งงๆกับแบบเรือเราแน่ว่าตกลงเรือคอร์เวตหรือopv แต่ทร.จะได้แบบแล้วต่อไหม

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.