ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome ถูกพูดถึงกันมากในสงครามระหว่างอิสราอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในรอบนี้ ที่อิสราเอลตั้งชื่อปฏิบัติการว่า Operation Guardian of the Walls ด้วยการที่มีการสั่งยิง Iron Dome จำนวนมาก และคาดว่ามีความแม่นยำในการสกัดกั้นถึง 90% วันนี้เราจะลองมาอธิบายการทำงานของ Iron Dome แบบคร่าว ๆ ว่ามีการทำงานอย่างไรครับ
Iron Dome แตกต่างจากระบบป้องกันภัยทางอากาศอื่นอย่างไร
จริง ๆ แล้ว Iron Dome ออกแบบมาค่อนข้างเฉพาะในการป้องกันจรวดหรือลูกปืนใหญ่ที่ยิงเข้ามาในพื้นที่ที่กำหนด โดยเป็นระบบอาวุธแบบแรกใช้จรวดในการสกัดภัยคุกคามที่เข้ามา โดยถูกจัดให้เป็นระบบ C-RAM หรือ Counter Rocket, Artillery, and Mortar rounds นอกจากนั้นระบบอื่นจะเป็นระบบที่ใช้ปืนทั้งหมดเช่น LPWS ของ General Dynamics ที่เป็นการใช้ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Mk.15 Phalanx มาประยุกต์ หรือ MANTIS ของ Rheinmetall Air Defence ที่ใช้กระสุน 35 มม. เป็นต้น
ซึ่งจะสังเกตุว่าระบบที่ใช้ปืนนั้นจะมีพิสัยยิงที่ค่อนข้างสั้นไม่กี่กิโลเมตร แต่ระบบที่ใช้จรวดอย่าง Iron Dome สามารถยิงได้ไกลถึง 70 กิโลเมตร ซึ่งเหมาะสมกับการป้องกันเมืองมากกว่าระบบที่ใช้ปืนที่เหมาะสมกับการป้องกันที่ตั้งทางทหารเฉพาะจุด แต่ก็แลกมากับราคาที่แพงกว่ามาก
องค์ประกอบของ Iron Dome มีอะไรบ้าง
Iron Dome ประกอบด้วยศูนย์จัดการสนามรบและควบคุมการใช้อาวุธหรือ Battle Management and Weapon Control Unit ซึ่งจะมีหน้าที่คำนวณข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาร์ ตัดสินใจสั่งยิง ควบคุมสถานการณ์ รวมถึงติดต่อสื่อการกับกองบัญชาการ โดยระบบสามารถตั้งแบบอัตโนมัติที่จะสั่งยิงเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมได้

อีกส่วนหนึ่งคือเรดาร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยตรวจจับและติดตามเป้าหมายหรือ Detection and Tracking Radar Unit โดยใช้เรดาร์ AESA แบบ 3D รุ่น EL/M-2084 รุ่น Mini MMR ขนาดเล็กของบริษัท ELTA ประเทศอิสราเอล โดยตัวเรดาร์จะประกอบไปด้วยส่วนแผงเรดาร์ ส่วนควบคุม ส่วนหล่อเย็น และส่วนผลิตพลังงานติดตั้งอยู่บนรถลากที่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก นอกจากติดตามเป้าหมายแล้ว ยังสามารถควบคุมการยิงเพื่อนำทางจรวดเข้าสู่เป้าหมายได้

EL/M-2084 Mini MMR มีขีดความสามารถในการตรวจจับเป้าหมายทางอากาศที่ราว 470 กิโลเมตร ตรวจจับเป้าหมายและที่ตั้งยิงจรวด ปืนใหญ่ และลูกระเบิดจากเครื่องยิงลูกระเบิดได้ 100 กิโลเมตร สามารถตรวจจับเป้าหมายทางอากาศได้ 1,100 เป้าหมาย ตรวจจับเป้าหมายที่เป็นจรวด ปืนใหญ่ และลูกระเบิดจากเครื่องยิงลูกระเบิดได้ 200 เป้าหมายต่อนาที มุมเอียงสูงสุด 50 องศา ในกรณีของการตรวจจับเป้าหมายทางอากาศสามารถติดตั้งบนแท่นหมุนซึ่งจะกวาดการตรวจจับได้ 360 องศา แต่ถ้าใช้ในการตรวจจับจรวดและปืนใหญ่จะต้องติดตั้งบนแท่นแบบประจำที่ ซึ่งแต่ละแผงเรดาร์จะตรวจจับได้กว้าง 120 องศา ดังนั้นจำเป็นต้องใช้เรดาร์ EL/M-2084 Mini MMR จำนวน 3 ตัวเพื่อให้สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ครบ 360 องศารอบตัว
ส่วนสุดท้ายคือส่วนยิงหรือ Missile Firing Unit ซึ่งเป็นแท่นยิงจรวดจำนวน 3 – 6 แท่น แต่ละท่านบรรจุจรวด Tamir จำนวน 20 นัด และมีจรวดสำรองอีก 20 นัด โดยจรวด Tamir นำวิถีด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency) เพื่อพาตัวเองไปยังเป้าหมาย จะมีเซนเซอร์ Electro-Optic และตัวยิงเลเซอร์เพื่อนำตนเองเข้าสู่เป้าหมายและคำนวณเวลาจุดระเบิดในช่วงสุดท้ายของการยิง ตัวจรวดสามารถยิงได้ไกล 40 กิโลเมตร

ด้วยระบบนี้ Iron Dome สามารถป้องกันพื้นที่ได้ครอบคลุม 150 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหมายถึงเมื่อเทียบง่าย ๆ แล้ว Iron Dome 1 ระบบจะสามารถป้องกันอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งเมือง หรือป้องกันพัทยาได้ 3 เมืองพัทยา แต่ถ้าต้องการป้องกันกรุงเทพมหานครทั้งเมือง จะต้องใช้ Iron Dome ราว 10 ระบบ (ซึ่งเป็นการเทียบคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะพิสัยการป้องกันของ Iron Dome เป็นวงกลม แต่รูปร่างของจังหวัดนั้นไม่เป็นวงกลม และในการวางระบบจริงจะต้องมีการวางให้พิสัยการป้องกันเหลื่อมกัน)
การทำงานของ Iron Dome
Iron Dome สามารถทำการยิงได้ทั้งแบบสั่งการยิงด้วยคนหรือแบบอัตโนมัติ โดยเมื่อวางและติดตั้งระบบเสร็จ ผู้ควบคุมจะต้องกำหนดว่าพื้นที่ใดคือพื้นที่ที่ต้องการป้องกัน และพื้นที่ใดสามารถปล่อยให้ภัยคุกคามตกลงมาได้ เพราะ Iron Dome จะคำนวณวิถีของจรวดที่บินเข้ามา ถ้าตกนอกพื้นที่ที่ป้องกันก็จะไม่สั่งยิงจรวดเพื่อประหยัดจรวด
เมื่อเรดาร์ EL/M-2084 ตรวจจับเป้าหมายที่เข้ามายังรัศมีตรวจจับได้ ระบบจะแจ้งเตือนและส่งข้อมูลไปยังหน่วยควบคุม ซึ่งโดยปกติแล้วจรวดหรือลูกปืนใหญ่จะเคลื่อนอที่เป็นวิถีโค้ง (Projectile) หน่วยควบคุมจะตรวจจับวิถีของจรวดที่เข้ามา และคำนวณคาดการณ์ว่าวิถีโค้งซึ่งคือการเดินทางตลอดเส้นทางของจรวดเป้าหมายจะเป็นแบบใด ด้วยวิธีจะทำให้ทราบทั้งตำแหน่งที่จรวดจะตก และทราบตำแหน่งที่จรวดถูกยิงออกมาได้

ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นหลักการเดียวกับเรดาร์ตรวจจับที่ตั้งปืนใหญ่ แต่ Algorithm ของ Iron Dome จะพิเศษตรงที่สามารถคำนวณได้ว่าจะต้องยิงจรวด Tamir ออกไปเมื่อใด ยิงไปที่ตำแหน่งใด และยิงไปเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถสกัดจรวดหรือลูกปืนของฝ่ายตรงข้ามได้ทัน และยังมีความแม่นยำสูง คือสามารถสกัดจรวดและลูกปืนใหญ่ได้ 90% และคำนวณย้อนกลับหาที่ตั้งยิงจรวดและลูกปืนใหญ่ได้แม่นยำถึง 0.3% CEP หรือคาดเคลื่อนไม่เกิน 90 เมตรจากระยะยิงสูงสุดของจรวด Qassam ของกลุ่มฮามาสที่ 40 กิโลเมตร ซึ่งเพียงพอในการใช้เครื่องบินโจมตีตอบโต้
เมื่อระบบควบคุมตัดสินใจสั่งยิง ระบบควบคุมจะส่งข้อมูลพิกัดและเป้าหมายที่จรวด Tamir จะต้องเดินทางไปพบกับจรวดเป้าหมายกลางอากาศว่าอยู่ที่พิกัดเท่าใด เมื่อจรวด Tamir จุดตัวจากแท่นยิง ตัวจรวดจะมีครีบเพื่อเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางให้ไปยังเป้าหมายที่กำหนด และส่วนหัวข้อจรวด Tamir จะมีแผงส่งคลื่นวิทยุที่จะส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบกับเป้าหมายเพื่อหาตำแหน่งด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นระบบเรดาร์ EL/M-2084 จะยังคงติดตามเป้าหมายเพื่อส่งข้อมูลให้ศูนย์ควบคุมคำนวณเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และอัพเดตข้อมูลตำแหน่งของเป้าหมายไปยังจรวด Tamir ด้วยระบบ Datalink เพื่อการสกัดกั้นที่แม่นยำมากขึ้น

เมื่อจรวด Tamir เดินทางเข้าใกล้เป้าหมาย จะเปิดเลเซอร์ที่ส่วนหัวเพื่อวัดระยะของตนเองกับจรวดเป้าหมาย เมื่อ Tamir เดินทางเข้าใกล้เป้าหมายมากพอที่แรงระเบิดจะสามารถทำลายเป้าหมายได้แล้ว ก็จะจุดตัวเองให้ระเบิดด้วยการจุดดินระเบิดพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับการส่งแรงระเบิดไปยังเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้จรวดหรือลูกปืนใหญ่เป้าหมายระเบิดหรือถูกทำลายกลางอากาศ เป็นอันจบกระบวนการการทำลายเป้าหมาย 1 เป้าหมาย
แต่ขั้นตอนทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติและใช้เวลาไม่กี่วินาทีนับจากตรวจจับเป้าจนถึงเป้าหมายถูกทำลาย ด้วยประสิทธิภาพของระบบตรวจจับ Algorithm และระบบประมวลผลขั้นสูงที่ทำการตัดสินใจหลายพันล้านครั้งในหนึ่งวินาที
ข้อจำกัดของ Iron Dome
อิสราเอลไม่ได้เปิดเผยว่า Iron Dome สามารถรองรับเป้าหมายได้สูงสุดกี่เป้าหมายต่อนาที ซึ่งยุทธวิธีของกลุ่มฮามาสในทุกวันนี้ก็คือการยิงจรวด Qassam ให้ได้มากที่สุดเพื่อคาดหวังว่าระบบการคำนวณของ Iron Dome จะคำนวณและสั่งยิงไม่ทันสกัดจรวดทั้งหมดได้ รวมถึงการยิงเป็นชุด ๆ เพื่อคาดหวังว่าจะมีบางช่วงที่ Iron Dome จรวดหมดและกำลังโหลดจรวดอยู่ ก็จะเป็นโอกาสในการเจาะแนวป้องกันเข้าไป
แต่อิสราเอลก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตทั้ง Rafael และ IAI ใช้ข้อมูลของ Iron Dome และข้อมูลการยิงจรวดของฮามาสตลอด 10 ปีที่ผ่านมามาออกแบบ Algorithm เพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพของ Iron Dome ผ่านการอัพเดตซอฟต์แวร์ในทุกปี
ข้อจำกัดอีกด้านหนึ่งคือราคา โดย Iron Dome 1 ระบบมีราคาขั้นต่ำ 50 ล้านเหรียญจนถึง 100 ล้านเหรียญ ซึ่งหมายถึงการจัดหา 1 กองพันต้องใช้เงินมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทขึ้นไป และตัวจรวด Tamir ก็มีราคาราวนัดละ 1.3 ล้านบาท เปรียบเทียบกับจรวด Qassam ที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ไม่กี่หมื่นบาท ดังนั้นการยิงจรวด Qassam หนึ่งครั้งราว 40 นัดจะมีต้นทุนการยิงอยู่ที่ราว 1.6 ล้านบาท แต่มีต้นทุกที่อิสราเอลต้องจ่ายเพื่อป้องกันตนเองด้วยการยิง Iron Dome กว่า 52 ล้านบาทเลยทีเดียว
ดังนั้นการป้องกันตนเองด้วย Iron Dome จึงไม่ใช้ทางเลือกเดียว แต่อิสราเอลจะใช้ปืนใหญ่หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดทำการโจมตีไปยังตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องยิงจรวด Qassam และโรงงานผลิตจรวด Qassam เพื่อทำลายตั้งแต่ต้นทาง และทำให้ฮามาสต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการยิงจรวดทีละน้อยและย้ายที่ตั้งยิงถี่ ๆ รวมถึงย้ายโรงงานผลิตไปมาเพื่อหลบเลี่ยงการถูกโจมตี เป็นต้น
คำถามที่มักจะถูกถามมาบ่อยครั้งว่า กองทัพไทยเหมาะกับ Iron Dome ไหม ทุกท่านสามารถตามไปร่วมพูดคุยกันได้ที่โพสนี้ครับ
https://www.facebook.com/groups/thaiarmedforce/permalink/2956233994621271/
One thought on “รู้จักการทำงานของ Iron Dome เคล็ดลับความแม่นยำที่ 90%”